ประสบการณ์การลงทุน เริ่มจากศูนย์ โดย [L] ThaiVI

ประสบการณ์การลงทุน เริ่มจากศูนย์ โดย [L] ThaiVI

ตอน 1: ขอเล่าที่มาที่ไปสักเล็กน้อยนะครับ

เมื่อเดือนที่แล้ว ผมได้ไปกินข้าวกับพี่ๆเพื่อนๆ VI กลุ่มนึงรวมทั้งพี่ sai, พี่ biker ด้วย แต่ละคนก็เก่งๆกว่าผมทั้งนั้นครับ
ก็กินไปคุยไปเรื่อยๆตามภาษา VI จนยังไงไม่รู้ พอพี่เค้ารู้ว่าผมถือหุ้นอยู่บริษัทนึง (ไม่ได้มากมายอะไรนะครับ)
แล้วผมก็บอกว่าผมเริ่มต้นลงทุนจากศูนย์ โดยอาศัยเงินเก็บแต่ละเดือนจากเงินเดือนมาลงทุนสะสมไปเรื่อยๆ
พี่ sai เค้าก็ตกใจใหญ่เลยครับ ผมก็งงๆว่าตกใจอะไร เริ่มต้นลงทุนจากศูนย์มันแปลกตรงไหน

ปรากฏว่า VI หลายคนที่พี่เค้ารู้จักส่วนใหญ่มีเงินลงทุนเริ่มต้นเป็นหลักล้านทั้งนั้นเลย

ผมเดาว่าคงเป็นเพราะ พี่ๆรุ่นก่อนๆเค้าน่าจะเป็นแบบที่เรียกว่า  มีตังค์อยู่ก่อน ค่อยมารู้จัก VI ทีหลัง

ส่วนผมคนรุ่นหลังหน่อย เลยรู้จัก VI ก่อน ค่อยมารู้จักตังค์ทีหลัง (หวังว่านะ  :) )
ผมว่านักลงทุน VI รุ่นใหม่ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเหมือนผม

สรุปคือ ที่พี่ อิอิอิ (ซาอิ) ชักนำผมมาพูดเนี่ย หลักๆไม่ใช่เพราะผมเก่งเลยนะครับ
แต่เพราะผมเริ่มต้นลงทุนจากศูนย์แล้วยังพอไปวัดไปวาได้ต่างหากล่ะครับ
และคงพอเป็นกำลังใจให้น้องรุ่นใหม่ได้บ้าง  :8)

ไม่รู้จะเริ่มยังไงดี ขอเล่าไปแบบเรื่อยเปื่อย ไร้สาระบ้างอย่าว่ากันนะครับ

มีเงินน้อยเป็น VI ไม่ได้จริงหรือ ?

คำตอบมันชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่จริง
แต่ปัญหาคือ VI รุ่นใหม่หลายคนมักจะน้อยใจหรือเสียใจ ว่าเพิ่งเริ่มต้น
เงินลงทุนยังมีน้อย ลงทุนเมื่อไหร่จะรวยซะที

ผมว่าลองคิดกลับกันดูสิครับ
บางคนที่เค้ามีเงินลงทุนเริ่มต้นหลายล้านน่ะ  จริงๆแล้วเค้าก็ต้องค่อยๆเริ่มต้นทำงานเก็บเงินมาก่อนนะ
ว่าที่จริงตอนนั้นเค้ายังไม่รู้จัก VI เลยด้วยซ้ำไป พวกเค้าต้องฝากเงินอยู่ในธนาคารตั้งนาน นานหลายๆปีจนมีเงินเยอะแล้ว
ถึงเพิ่งจะมารู้จัก VI และมาลงทุนแบบ VI
คิดดูสิว่า ถ้าพวกเค้ารู้จัก VI มาตั้งแต่ต้น ผลมันจะออกมาแตกต่างขนาดไหน
พวกเค้าสูญเสียโอกาสไปขนาดไหน

VI รุ่นใหม่อย่างพวกเราถือว่าโชคดีมากนะครับ ได้รู้จัก VI ตั้งแต่ช่วงต้นๆของการลงทุน
ก็คิดซะว่าเราเป็นคนพอร์ตใหญ่สมัยตอนหนุ่มๆก็แล้วกัน ดังนั้นเราก็ไม่ควรไปอิจฉาเค้าเลยนะครับ เค้าต่างหากที่ควรอิจฉาเรา  :D

(ที่ยกตัวอย่างมานี้ ก็เพื่อเป็นกำลังใจ VI รุ่นใหม่ที่ยังเบี้ยน้อยหอยน้อยอยู่นะครับ
มิได้มีเจตนาว่ากล่าวใครนะครับ ยังไงก็ตาม ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)

ตอน 2: ทำไมถึงต้องลงทุนในหุ้น ?  

ถ้าไม่รู้ซึ้งถึงความสำคัญของข้อนี้แล้วละก็ มันก็ไปได้ไม่ถึงไหนหรอกครับ

เดิมทีผมก็มีความคิดเหมือนคนส่วนใหญ่ คือ หนทางที่คนเราจะรวยได้คือ
เราต้องเป็นเจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จ (คนรุ่นเก่าจะเชื่อแบบนี้เยอะ แต่สำหรับผมมันคงจะยากลำบากมาก)
หรือไม่ก็ต้อง เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทใหญ่ๆ (อันนี้พอมีลุ้น แต่หลังจากทำงานมาซักพัก ผมว่าผมคงไม่เหมาะจะเป็นผู้บริหาร  :oops: )
หรือไม่ก็ต้อง พ่อแม่รวยอยู่แล้ว (อันนี้ก็ไม่ใช่ผม)
หรือไม่ก็ต้อง ได้เมียรวย (ถ้าผมหล่อเหมือนดาราเกาหลี ก็ว่าไปอย่าง  :twisted: )

สรุปคือ ผมไม่เอาถ่านเลยซักอย่าง  :oops:

แต่ผู้จุดประกายความหวังให้ผม คือหนังสือของ อ.นิเวศน์ ครับ ตอนนั้นรู้สึกจะมีอยู่ 3 เล่ม
ตีแตก เคล็ดลับเซียนหุ้นพันธุ์แท้ และ เซียนหุ้นมือทอง ผมอ่านหมดเลยครับ
อ่านแล้วรู้สึก ใช่เลย ต้องขอบคุณ อ.นิเวศน์ มากๆเลยครับ ถือว่าท่านเป็นอาจารย์ด้านการลงทุนของผมเลยครับ
จากนั้นผมก็ติดตามผลงานของ อ.นิเวศน์ เรื่อยมาจนปัจจุบัน

แล้วผมก็ตระหนักได้ถึงความสำคัญของ 2 สิ่ง คือ
หนึ่ง อัตราผลตอบแทนทบต้นมันมหัศจรรย์มาก ในระยะยาว (เช่น 10-20 ปี) มันทำให้เรารวยได้จริงๆ
สอง ทางเดียวที่พนักงานกินเงินเดือนธรรมดาๆอย่างผมจะรวยได้คือ ต้องลงทุนในหุ้นเท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่น

เมื่อคิดได้แบบนี้ ผมก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานเก็บเงิน ก็เพื่อจะลงทุนในหุ้นต่อไปครับ

เริ่มออมเงินยังไง ?

ตอนเริ่มลงทุนจริงๆ ผมก็ค่อยๆสะสมเอาจากเงินเดือนครับ เริ่มจากหมื่น หลายๆเดือนก็เป็นแสน หลายๆปีก็เป็นล้านได้
ดังนั้น ช่วงแรกๆต้องอดทนมากหน่อย กว่าจะเก็บเงินลงทุนได้ซักแสนก็หลายๆเดือนอยู่
ช่วงแรกที่ลงทุน ถึงจะได้กำไรมาตั้งหลายสิบเปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเม็ดเงินก็แค่ไม่กี่หมื่นบาท
แต่ถ้าอดทนสะสมไปเรื่อยๆ หลังๆมันจะเร็วจนน่าตกใจเลยครับ (เวลาขาดทุนก็ตกใจเช่นกันครับ  :lol: )

เงินเก็บสะสมในแต่ละเดือนผมลงทุนในหุ้นทั้งหมด ผมค่อนข้างจริงจังครับ
เพราะผมรู้แล้วว่าการลงทุนในหุ้นมันสำคัญขนาดไหน  ไม่มีลังเลครับ
ผมไม่ซื้อรถ ไม่ซื้อคอนโด ไม่ซื้อบ้าน ไม่มีบัตรเครดิต ไม่ซื้อเครื่องใช้แพงๆโดยไม่จำเป็น
มันทำให้ผมมีเงินเหลือไว้ลงทุนเป็นสัดส่วนค่อนข้างเยอะ ประมาณว่า อดเปรี้ยวไว้กินหวาน

ส่วนค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารการกิน การท่องเที่ยว เสื้อผ้า ของใช้ทั่วไป หรือเรื่องอื่นๆที่จำเป็น
เช่น สุขภาพ การเรียน หรือหนังสือ ผมไม่ค่อยได้ประหยัดเท่าไหร่ครับ
แต่ผมจะหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายใหญ่ๆแทน เช่น บ้าน รถ คอนโด (แต่ถ้าใครจำเป็นซื้อ ก็ต้องซื้อนะครับ แต่อย่าให้เกินตัว)
แค่นี้ผมก็มีความสุขได้ 80% โดยใช้เงินแค่ 20% แล้ว ผมว่าการซื้อรถ บ้าน โดยไม่จำเป็นน่าจะเป็นความทุกข์ด้วยซ้ำไป

การทำแบบนี้ ก็ต้องมีจิตใจที่มั่นคง ต้องศรัทธาในการลงทุนหุ้นพอสมควร เพราะมันค่อนข้างจะสวนกระแสกับคนทั่วไป
ใหม่ๆผมเล่าเรื่องการลงทุนแนว VI ให้เพื่อนที่รู้จักหลายคนฟัง ไม่มีใครเชื่อเลย แล้วยังมองว่าแปลกประหลาด หรือมองเป็นเรื่องตลกด้วยซ้ำไป
VI เป็นศาสตร์(และศิลป์)ของคนส่วนน้อยจริงๆ เป็นคนประเภทต้องคิดต่างจากคนส่วนใหญ่ (แล้วก็น่าจะรวยต่างจากคนส่วนใหญ่ด้วยเช่นกัน)
เหมือนเคยได้ยินว่า VI มันเป็นสิ่งติดตัวมา ผมยังไม่เคยเห็นใครค่อยๆเป็น VI เลย
ถ้าใครได้ยินแนวทาง VI แล้วใช่ ก็ใช่เลย ถ้ามันไม่ใช่ตั้งแต่แรก ยังไงมันก็ไม่ใช่

ตอนที่ 3: เริ่มต้นลงทุนยังไง ?

ผมเพิ่งจะลงทุนมาเต็ม 4 ปีเองครับ ผมยังมือใหม่มากๆ
ยังต้องเรียนรู้ ยังต้องลองผิดลองถูกอีกเยอะ  :oops:

ตอนเริ่มจะซื้อหุ้น ผมรู้ว่าผมไม่ได้เก่ง ประสบการณ์ลงทุนก็แทบไม่มี
เวลาก็ไม่มีเพราะต้องทำงาน ข่าวสารต่างๆก็รู้ช้ากว่าคนอื่น
แถมยังค่อนข้างขี้เกียจ(อันนี้เป็นปัญหาหนักสุด ห้ามลอกเลียนแบบ :oops: )
แทบไม่เคยโทรหา IR หรือ company visit เลย

ดังนั้นด้วยข้อจำกัดต่างๆ ผมจึงไม่ค่อยได้คิดอะไรใหม่ๆ หรือเริ่มต้นหาหุ้นด้วยตัวเองเลย
พูดง่ายๆคือ ผมอาศัยลอกการบ้านเอาจากอาจารย์และพี่ๆที่เค้าศึกษามาแล้ว  :bow:
ผมศึกษาเอาจากคนเก่งๆทั้งหลายนั่นแหละครับ เช่น ไปสัมมนาบ่อยๆ อ่าน thaivi อ่านหนังสือ

จากนั้นผมก็มาเลือกลงทุนเองอีกที เรียกได้ว่าผมทำการบ้านของการบ้านของคนอื่นอีกทีครับ
อย่างน้อยเราก็ต้องเข้าใจในกิจการและวิเคราะห์ตามหลัก VI เองตามปกติด้วย
(ส่วนสไตล์การลงทุนแต่ละคนก็ต้องเลือกให้เหมาะกับตัวเอง)
และต้องคิดด้วยตัวเองอีกทีก่อนตัดสินใจ เพราะถ้าพลาดจะได้ไม่โทษคนอื่น แต่ถ้ากำไรต้องชมเค้านะครับ  :D
ซึ่งส่วนใหญ่มีหุ้นน้อยตัวที่ผมจะซื้อ
(การแห่ซื้อตามเซียนโดยไม่มีความรู้เป็นเรื่องอันตรายมากๆนะครับ)

ผมจะมองหาโอกาสที่ง่ายๆชัดๆ ซึ่งนานๆจะเจอที ปีๆเจอ 1 2 ทีก็พอแล้วครับ บางตัวก็อยู่หลายปี
เวลาส่วนใหญ่ที่เหลือก็จะอยู่เฉยๆไม่ค่อยทำอะไร แต่ก็จะติดตามข่าวสารไปเรื่อยๆ
โดยเฉพาะเรื่องราวของหุ้นที่อยู่ในความสนใจของเรา ที่เหลือก็อ่านหนังสือบ้างไปตามเรื่องตามราว

ในพอร์ตก็มีหุ้นหลักๆ 2-3 ตัว ระหว่างปีก็มีแบ่งเงินบางส่วนมาลองผิดลองถูกบ้าง เก็บเกี่ยวประสบการณ์ตามภาษาคนมือใหม่

นี่คือผลงานการลงทุนที่ผ่านมาของผม
2006 +58.6%
2007 +31.6%
2008  -30.7%
2009 +369.3%

คราวหน้าผมจะลองเล่าถึงประสบการณ์ลงทุนบ้าง เท่าที่นึกออกครับ

ตอนที่ 4: บทเรียน/ สิ่งที่ได้เรียนรู้

ผมลองนึกดูว่า ที่ผ่านมาลงทุนยังไง เห็นอะไรมาบ้าง พบว่า
– การลงทุนให้ประสบความสำเร็จไม่ได้มีวิธีเดียว มีหลายวิธีที่สำเร็จได้ แนวทางใครแนวทางมัน
– หลังวิกฤตย่อมมีโอกาส แต่ก่อนจะมีโอกาสต้องรอดจากวิกฤต และเมื่อโอกาสมาถึงเราต้องกล้า
– อย่าให้ความสำคัญกับผลตอบแทนการลงทุนมากจนเกินไป ความสม่ำเสมอและระยะเวลาการลงทุนต่างหากที่สำคัญมากกว่า
– และข้อสังเกตอื่นๆที่น่าสนใจ

การลงทุนให้สำเร็จไม่ได้มีวิธีเดียว

เมื่อก่อนผมเคยคิดว่า น่าจะมีแนวทางการลงทุนอันเดียวที่ดีที่สุด ที่เหมาะกับทุกคน ต้องลงทุนแบบนี้ถึงจะดี ลงทุนแบบอื่นๆนั้นไม่ดี
แต่เมื่อเวลาผ่านไปถึงรู้ว่า จริงๆแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะคนเรานั้นต่างกัน

ทางที่ประสบความสำเร็จไม่ได้มีทางเดียว แต่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมักมีแนวทางเป็นของตัวเอง
บางคนเก่งหุ้น Cyclical บางคนชอบหุ้นถูกมีตัวเร่ง บางคนหุ้นฟื้นตัว บ้างก็หุ้นประมูลงาน บางคนชอบ Super Stock
บางคนเก่ง Commodities บางคนเก่ง Arbitrage บางคนเก่งทุกอย่างเลย  :bow:  หรือบางคนก็ใช้ Technical ใช้ Fund Flow ประกอบ
เรื่องการบริหารพอร์ต บางคนก็ชอบถือนานหลายปี บางคนถือไม่นานมากหุ้นขึ้นก็ขายเปลี่ยนตัว บางคนถือแค่ไม่กี่หุ้น
แต่บางคนก็ชอบกระจายหลายหุ้น หรือบางคนอาจจะเหมาะลงทุนในกองทุนดัชนีโดยไม่ต้องเลือกหุ้นเลยก็ยังได้
ไม่มีใครถูกใครผิด แนวทางไหนไม่สำคัญ ที่สำคัญคือเราต้องแน่ใจว่าเรารู้เรื่องเหล่านั้นจริงๆ
(มีนักลงทุนฝีมือดีท่านนึงเคยกล่าวว่า แมวสีไหนไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้ก็พอแล้ว)

ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องเก็บหุ้นเด็ดทุกตัว เอาแค่ไม่กี่ตัวที่เราเข้าใจได้ก็พอแล้ว ผมเองพลาดหุ้นเด็ดไปตั้งเยอะ
บางตัวก็เป็นโอกาสที่ดีซึ่งผมก็เสียดายเหมือนกัน  :(  แต่ส่วนใหญ่ไม่ลงทุนเพราะยังไม่เข้าใจพอ และบางตัวก็ไม่ใช่แนวที่ถนัด  :oops:
หุ้นที่ผมไม่เคยลงทุนเช่น AIT BANPU BGH BH BLA BOL CPF CPN DSGT GFPT ILINK IRP KH MINT PB PDI PS PTT PTTEP
SAT SCIB SCNYL SIS SNC SPALI SSF STPI SVI TICON TNH TOP TPAC TTA UEC UMS UVAN WG

ตลอด 4 ปีที่ลงทุนมา กว่า 80% ของผลตอบแทนการลงทุนเกิดจากหุ้นหลักๆเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น (4-5 ตัว)
ส่วนผลงานอีก 20% ที่เหลือเกิดจากหุ้นจำนวนมากกว่าที่ผมลองซื้อขายบ่อยๆแบบเก็งกำไร ซึ่งช่วงหลังผมพยายามทำให้น้อยลง

ที่ผ่านมาสไตล์การลงทุนหลักที่ผมใช้คือเน้นลงทุนน้อยตัว (Focus) ถ้าภาวะปกติ ผมจะเลือกหุ้นคุณภาพที่มี DCA + Growth
ยกเว้นถ้าเกิดวิกฤตเหมือนปีที่แล้ว ผมจะเลือกหุ้นถูก + ฟื้นตัว + DCA

ส่วนนักลงทุนท่านอื่นๆก็มีแนวทางของเค้า มีผลงานการลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงๆมากมาย

ต้องรอดจากวิกฤต และเมื่อโอกาสมาถึงต้องกล้า

การลงทุนที่ผ่านมา ผมคิดว่าผมมีโชคอยู่มากพอควร (จะเรียกว่าฟลุ๊คบ้างก็ได้) แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
ผลตอบแทนที่คิดเป็นเม็ดเงินส่วนใหญ่ของผมเกิดขึ้นในปี 2009 เหมือนมีคนเคยบอกว่า
โอกาสใหญ่ๆของคนเรามีแค่ไม่กี่ครั้งในชีวิต เมื่อมันมาถึงเราต้องกล้า แต่ไม่ใช่อยู่ๆก็กล้า เราต้องศึกษาต้องเห็นมาก่อน
ตอนผมอ่าน ตีแตก อ่านบทความ ผมทั้งดีใจและเสียใจ เสียใจที่โอกาสดีๆแบบตอนนั้น มันผ่านไปแล้ว ไม่รู้เมื่อไหร่จะมาอีก
ผมพอรู้เรื่องราวของหุ้นเรือ หุ้นปี 2003 ตอนนั้นผมบอกกับตัวเองว่า ถ้าโอกาสครั้งหน้ามาถึงผมต้องไม่พลาด

แต่เนื่องจากโอกาสจะมาหลังวิกฤต ดังนั้นก่อนจะมีโอกาสได้ เราต้องรอดจากวิกฤตซะก่อนเพราะถ้าพลาดเราอาจไม่ได้แก้ตัวอีก
(ที่จริงปี 2008 ผลตอบแทนผมก็ติดลบ 30% ไม่รู้จะเรียกว่ารอดดีรึเปล่า  :oops: )
ดังคำกล่าวว่า ถ้าเรารู้ว่าเราจะตายที่ไหน ก็อย่าไปที่นั้น
ดังนั้นถ้าเรารู้ว่าโอกาสขาดทุนครั้งใหญ่เกิดได้ยังไง เราก็อาจจะพอหลีกเลี่ยงได้บ้าง
เท่าที่ผมเห็น โอกาสขาดทุนครั้งใหญ่มักจะเกิดจาก การลงทุนในหุ้นคุณภาพต่ำหรืองั้นๆในเวลาทองของธุรกิจนั้น และ
การใช้ Margin ที่มากเกินไป หรือทั้งสองอย่างรวมกัน  :vm:
อีกอย่างคือ การลงทุนหุ้นคุณภาพดีในราคาที่แพงเกินไป เช่น PE 40 เท่าบนกำไรปกติ (ที่ผ่านมา VI น้อยคนที่จะลงทุนแบบนี้)
หรือแม้แต่ การลงทุนในดัชนีตลาดหุ้นที่ร้อนแรง เช่น ลองนึกถึงตลาดหุ้นจีนตอนก่อนวิกฤตที่ PE 40 เท่าดู
(ไม่ต้องพูดถึงหุ้นปั่น หรือการเล่นเก็งกำไร Futures ซึ่งนักลงทุนทุกคนควรรู้อยู่แล้วว่ามีโอกาสหมดตัวได้ทุกเมื่อ)

ดูเหมือนผมจะพูดย้อนหลังใครก็พูดได้ (แต่ใครจะพูดย้อนหน้าได้ล่ะ :evil: )
ปลายปี 2008 – ต้นปี 2009 ทุกคนรู้ว่าหุ้นถูก แต่ไม่ค่อยมีคนกล้า
(ไม่ต้องพูดถึงคนทั่วไปที่ไม่ใช่ชาวหุ้น ซึ่งไม่เคยตระหนักถึง ไม่สนใจด้วยว่า โอกาสมาถึงแล้ว และผ่านไปแล้ว)
แต่ลงมือทำจริงมันไม่ง่ายเลย นอกจากจะเอาหลักเหตุผล หลัก VI มาสู้ทุกทางแล้ว
ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ต้องมีความมั่นคงทางอารมณ์มากๆ และต้องมีความเชื่อมั่นในหลักการที่ใช้อย่างมาก
(ช่วงนั้นก็ไปงานสัมมนาบ่อยๆ อ่านบทความอาจารย์บ่อยๆหลายๆรอบ)
จงกลัวเมื่อคนอื่นโลภ และจงโลภเมื่อคนอื่นกลัว อันนี้หลายคนเคยได้ยิน
แต่พอถึงเวลาจริงๆกลับรู้สึก โลภไปกลัวไป  โดยเฉพาะเคาะซื้อไปใจสั่นไป  :?

VI รุ่นใหม่ที่พลาดปี 2009 ก็ไม่ต้องเสียดายมาก ยังไงมันก็ผ่านไปแล้ว วิกฤตหน้ายังมีอีกแน่นอน  :twisted: แต่ไม่รู้เมื่อไหร่
อาจจะปีเดียวหรืออาจจะ 10 ปีก็ได้ ไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆคือต้องเอาตัวรอดให้ได้ด้วย
(แต่ต่อให้ไม่ต้องมีวิกฤตเลยก็ยังได้ ถ้าเราลงทุนตามหลักไปเรื่อยๆ สม่ำเสมอไปเรื่อยๆ ก็ถึงจุดหมายได้เหมือนกัน
เพราะระยะเวลาต่างหากคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการลงทุน)

ขอมาต่ออีกทีซักอาทิตย์หน้านะครับ  :)
(ไม่นึกว่าการเขียนจะเหนื่อยไม่ใช่น้อย นับถือคนที่เค้าเขียนบทความให้ความรู้บ่อยๆจริงๆครับ  :bow: )

ตอนที่ 5: ผลตอบแทน VS ระยะเวลา (1)

คาดหวังผลตอบแทนแค่ไหนดี?
แน่นอนว่านักลงทุน VI ใหม่ๆทุกคนคาดหวังผลตอบแทนสูงๆทั้งนั้นครับ ผมเองก็ด้วย
แล้วผลตอบแทนจากการลงทุนมาจากไหนกัน

ถ้าการซื้อหุ้นคือการลงทุนในธุรกิจ ผลตอบแทนจากการลงทุนก็ต้องมาจากผลกำไรของธุรกิจ
แล้วเราควรคาดหวังผลกำไรจากธุรกิจแค่ไหน
มีการสำรวจว่า โดยทั่วไปธุรกิจใหญ่ๆที่ดีมีความสามารถเหนือคู่แข่ง ในระยะยาวแล้ว (เช่น 10-20 ปี)
สามารถทำผลกำไรให้เติบโตได้ 10-15% ต่อปี
ดังนั้นสำหรับนักลงทุนระยะยาวๆแล้ว ควรคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนไม่เกิน 15% ต่อปีก็พอแล้วครับ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นของการลงทุนที่พอร์ตไม่ได้ใหญ่มากนัก เราอาจจะทำผลตอบแทนให้สูงกว่านี้ได้ เช่น
การซื้อหุ้นเมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่าแล้วขายเมื่อราคาสูงกว่าหรือเข้าใกล้มูลค่า
หรือการซื้อธุรกิจในช่วงที่กำลังเติบโตมากในช่วงต้นและขายเมื่อถึงจุดอิ่มตัว
หรือการหาโอกาสในสถานการณ์พิเศษต่างๆ และอื่นๆ

แต่ข้อควรระวังคือ อย่าเพิ่มความเสี่ยงเพียงเพื่อจะหวังผลตอบแทนสูงๆ
สำหรับเรื่องทั่วไป เรารู้ว่า ถ้าเราเพิ่มความพยายามเข้าไปอีก เราจะต้องได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นตามความพยายามของเรา
แต่การลงทุนเป็นเรื่องที่แปลก มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น บางเรื่องถ้าเราไม่รู้จริง (แต่กลับคิดว่าเรารู้จริง)
ความพยายามที่ใส่เพิ่มเข้าไปนั้น แทนที่ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นมันอาจจะลดลงมากกว่า

การลงทุนที่ถ้าพลาดแล้วจะเสียหายหนักต้องพึงหลีกเลี่ยง ถึงแม้ว่าถ้าสำเร็จจะได้กำไรสูงๆก็ตาม
แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องไม่เสี่ยงอะไรเลย
นโยบายของผมก็คือ เมื่อคิดจะเสี่ยง ถ้าพลาดเราต้องไม่เสียหายมากนัก แต่ถ้าสำเร็จต้องได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ
เหมือนที่นักลงทุนดันโดกล่าวไว้ ออกหัวผมได้เงิน ออกก้อยผมเสียเงินนิดหน่อย
หรือที่พี่นักลงทุน VI ท่านนึงว่าไว้ ผมชอบการลงทุนที่มี Potential Loss น้อยๆ มี Upside Gain สูงๆ

สรุปคือ เราก็ทำตามความสามารถที่เรามีอยู่ ได้ผลแค่ไหนก็ต้องยอมรับ และอย่าหวังผลเลิศเกินไป
การลงทุนเป็นการแข่งกับตัวเอง ไม่ได้แข่งกับคนอื่น อย่าคาดหวังว่าเราจะต้องทำผลตอบแทนให้สูงๆเท่านั้นเท่านี้
จนทำให้เราต้องทำอะไรเสี่ยงๆโดยไม่จำเป็น เครียดขนาดนั้น มันไม่มีความสุขหรอกครับ
ผมว่านักลงทุนระยะยาวที่ดี ต้องสบายๆ ต้องมีความสุขระหว่างทางด้วยครับ
เหมือนเคยได้ยินว่า ถ้าเราลงทุนตามหลักที่ถูกต้อง เราทำเหตุที่ดี แต่อย่าคาดหวังผล แล้วผลลัพธ์ที่ดีจะตามมาเอง
แต่ถ้าเรามัวแต่จะหวังที่ผล ผลลัพธ์มักจะออกมาไม่ดี

สำหรับผมเองถึงเพิ่งจะผ่านปี 2009 ที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนสูงมาก แต่ก็รู้ว่า นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานๆๆที
สำหรับคนที่เพิ่งเข้ามาลงทุนปี 2009 อย่าคาดหวังว่า ต่อไปจะได้ผลตอบแทนสูงๆขนานนั้นครับ (ที่จริงตอนนี้ก็น่าจะพอรู้แล้ว :) )
ต่อจากนี้ ผมตั้งเป้าไว้ 10-15% ต่อปีก็พอใจแล้ว สำหรับเรื่องการลงทุน ตั้งความหวังไม่สูงจนเกินไปแล้วเราจะมีความสุขครับ

(อันนี้ขัดกับหลักการบริหารเลยครับ ผู้บริหารบริษัทมักจะตั้งเป้าให้สูงๆเข้าไว้ จนบางครั้งเหมือนว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้
ลูกน้องก็จะต้องพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้ว(ส่วนใหญ่) จะทำไม่ได้ก็ตาม ประมาณว่า
ถึงตี(ลูกกอฟล์)ไปไม่ถึงดวงจันทร์ แต่ก็ตกอยู่ท่ามกลางดวงดาวอยู่ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นผลดีต่อบริษัทครับ)

ตอนที่ 6: ผลตอบแทน VS ระยะเวลา (2)

ต้องลงทุนนานแค่ไหน?
สำหรับนักลงทุนพันธุ์แท้คงไม่ต้องถามคำถามนี้แล้ว เพราะ ถึงแม้จะมีอิสรภาพทางการเงินแล้วVI หลายคนก็อยากที่จะลงทุนตลอดชีวิต
แต่สำหรับมือใหม่แบบผม ก็เคยบ่นในใจเหมือนกันว่า ต้องลงทุนอีกนานแค่ไหนกว่าจะรวยซะที ?

เพื่อความสบายใจ สำหรับผมเลยคิดแบบนี้ครับ
เจ้าของกิจการใช้เวลานานเท่าไร กว่าจะค่อยๆสร้างธุรกิจมารวยได้
เราซึ่งเป็นเพียงนักลงทุนก็คงใช้เวลาไม่ต่างจากนั้น กว่าจะค่อยๆสร้างพอร์ตมารวยได้เช่นกัน

ดังนั้น อย่าคาดหวังว่าการเป็น VI จะทำให้เรารวยได้เร็วๆ การลงทุนต้องใช้เวลา ต้องยอมรับความจริงข้อนี้

สรุปคือ ต้องเตรียมใจตั้งแต่ต้นเลยว่า เรายังต้องลงทุนอีกนานเป็นสิบๆปี อาจตลอดชีวิต (ถ้าไม่ตายซะก่อนนะ  :) )
จะรวยเร็วหรือรวยช้า ก็ไม่เกี่ยง เพราะยังไงสุดท้ายแล้วก็รวยอยู่ดี  :8)

ระยะเวลาลงทุนสำคัญแค่ไหน?
ที่จริงผมคิดว่า ระยะเวลาลงทุนและความสม่ำเสมอ สำคัญกว่า ผลตอบแทนสูงๆซะอีก
เพราะถึงแม้ว่าเราจะได้ผลตอบแทนที่ใครๆก็คิดว่างั้นๆ เช่น 10-15% ต่อปี แต่ถ้าระยะเวลาลงทุนยาวพอเราก็รวยได้
ในทางกลับกัน การได้ผลตอบแทนสูงๆแค่ครั้งสองครั้ง ไม่สามารถทำให้รวยได้

หลังจากเริ่มลงทุนมาได้สัก 2 ปี รู้สึกว่าพอร์ตยังเล็ก (โตช้าไม่ทันใจวัยโจ๋เลย )
เลยคิดว่า เราควร “พยายามเร่งความเร็ว” ทำผลตอบแทนให้สูงขึ้นกว่านี้อีกดีมั้ย?

ผมเลยลองคำนวณดูเล่นๆว่า ถ้าทำผลตอบแทนได้ 15% ต่อปี
จะมีอิสรภาพทางการเงินได้ในอีกกี่ปี (สมมุติตั้งเป้าไว้ 40 ล้านบาท)
แล้วเปรียบเทียบกับ
ถ้าทำผลตอบแทนได้ 30% ต่อปีล่ะ (ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับผม) จะมีอิสรภาพทางการเงินได้ในอีกกี่ปี
(อันนี้อย่าเอาไปเทียบกับเซียนๆ ทั้งหลายใน thaivi ที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ 50-100% ต่อปีทบต้นนะครับ
นั่นเป็นสามารถเฉพาะตัวห้ามลอกเลียนแบบครับ สำหรับเทพเท่านั้น  :bow:
ส่วนผมคนธรรมดาเดินดิน 30% นี่ก็โอ มากๆ แล้วครับ  :oops: )

ผลปรากฏว่า การทำผลตอบแทนได้ 30% จะทำให้ได้อิสรภาพทางการเงินเร็วกว่าเดิมแค่ 5-6 ปี เท่านั้น
(อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวแปรของแต่ละคนด้วย เช่น เงินทุนเริ่มต้น เงินออมแต่ละเดือน การขึ้นเงินเดือน …เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับพนักงานระดับกลางๆผลที่ออกมาก็คงไม่ต่างจากนี้มากนัก…)
ซึ่งผมไม่เห็นความแตกต่าง ระหว่างคนที่รวยตอนอายุ 40 กับคนที่รวยตอนอายุ 45 เพราะยังไงก็ต้องอีกนานทั้งคู่อยู่ดี  :(
เมื่อคิดได้แบบนี้ ก็ทำให้ความโลภอยากจะทำผลตอบแทนสูงๆรวยเร็วๆลดลงไปเยอะเลยครับ :)
(แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ห้ามได้ผลตอบแทนสูงๆนะครับ แต่เราจะมีอารมณ์โลภน้อยลงและลงทุนไปตามเหตุผลได้มากขึ้น
จังหวะไหนควรเร่งก็เร่งได้ จังหวะไหนไม่ควรเร่งก็อย่าเร่ง)

เปรียบเหมือนการวิ่งมาราธอนที่มีกติกาว่า ถ้าใครถึงเส้นชัยได้ไม่ว่าก่อนหรือหลัง จะได้เหรียญทองทุกคน
ดังนั้น เราก็วิ่งๆเดินๆเรื่อยๆไปตามกำลังที่มี เราไม่จำเป็นต้อง “พยายามเร่งความเร็ว” วิ่งจนเหนื่อยหอบเพื่อแข่งกับใคร
ถึงช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ล้มเลิกออกไปกลางทางซะก่อน ก็ถึงเส้นชัยได้เหมือนกัน
ส่วนใครจะถึงเส้นชัยได้เร็ว ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน แต่ละคนขาแข็งแรง ปอดแข็งแรงไม่เหมือนกัน

สรุปคือ ขอให้เราลงทุนไปเถอะครับ ใหม่ๆก็ต้องอดทนกันทุกคน ถึงเพิ่งจะเริ่มต้น ถึงจะไม่ได้เก่งอะไรมากมาย
แต่ถ้าเรายึดมั่นในหลักการที่ถูกต้องแล้ว เราอยู่ในเกมส์นานพอ สะสมไปเรื่อยๆไม่ล้มเลิกออกไปกลางทางซะก่อน
ในที่สุดก็ถึงจุดหมายปลายทางได้ทุกคนล่ะครับ

ตอนที่ 7: ไม่มีฝีมือเลย ลงทุนได้ไหม?

(ขอพูดถึงหัวข้อนี้หน่อย ถึงแม้ไม่ค่อยเกี่ยวกับชาว VI เท่าไหร่ แต่เพื่อนๆผมส่วนมากก็ยังเป็นชาวฝากเงินอยู่เลย
และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่พนักงานทุกคนต้องมี ผมก็ทำใจไว้แล้วว่า “ไม่มีฝีมือ” แน่เลย :))

เคยได้ยินว่า เวลาช่วยเยียวยาได้ทุกโรค นี่ก็น่าจะด้วยเช่นกัน
เพราะฝีมือไม่ใช่ทั้งหมดของการลงทุนต่อให้เราวิเคราะห์หุ้นไม่เป็นเลย ถ้าเวลานานพอ ลงทุนในกองทุนหุ้นดัชนีก็รวยได้
(แต่ไม่รู้ว่าดัชนีประเทศไหนนะ อาจจะไม่ใช่ดัชนีหุ้นไทยก็ได้  :twisted:  อันนี้ล้อเล่นนะ 555   :lol: )
ขอแค่มีความศรัทธาในการลงทุนระยะยาวในหุ้นก็สร้างความแตกต่างจากคนฝากเงินทั่วไปอย่างมหาศาลแล้ว

แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่กล้าลงทุนหุ้นเพราะกลัวความเสี่ยง กลัวหุ้นตก เพราะชอบมองแต่ระยะสั้นครับ
เลยออมเงินไว้กับธนาคารเป็นส่วนใหญ่ หรืออย่างเก่งก็ซื้อกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (ปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ที่ 1-2% ต่อปี)
โดยไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังทำตัวเองให้เสี่ยงอยู่…จากเงินเฟ้อ  บางคนอาจไม่เห็นความสำคัญเพราะปีต่อปีมันไม่ค่อยรู้สึกอะไร
เหมือนกบที่อยู่ในหม้อน้ำแล้วค่อยๆถูกต้มอย่างช้าๆๆ กว่าจะรู้ตัว ก็สายเสียแล้ว  :(  (ฟังดูน่ากลัวเหมือนกันแหะ)
แต่ถ้าลองมองยาวๆ…สมัยรุ่นพ่อยังเด็ก ก๋วยเตี๋ยว/ข้าวแกงชามละ 1 บาท ต่อมาตอนผมเป็นเด็กจำได้ว่า 10-15 บาท ต่อมาอีกหน่อย 20-25 บาท
ต่อมาอีก 25-30 บ จนปัจจุบันผมว่าผมเห็น 35-40 บาทแล้ว เดาว่าต่อไปรุ่นลูกได้กินชามละ 100 บาทแน่ confirm!  :twisted:
แบบนี้ ถ้าเอาแต่ฝากเงินกินดอกเบี้ยอย่างเดียว ตอนเกษียณ ชีวิตคงไม่สดใสเป็นแน่
(อีกอย่างผมเดาว่า ต่อไปอาจจะไม่ได้เห็นดอกเบี้ยออมทรัพย์ระดับ 10% ต่อปี อีกเลยก็ได้)
เห็นแบบนี้แล้ว ผมนึกไม่ออกเลยว่า ถ้าไม่ลงทุนในหุ้นแล้วต่อไปจะอยู่ได้ยังไง  :?

ผมมองว่าการออมเงินยามเกษียณหรือการลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็คือการลงทุนระยะยาว 30 ปี แล้วทำไมเราต้องมากังวลด้วยว่า
หุ้นจะตกในเดือนนี้เดือนหน้าหรือแม้กระทั่งปีหน้าด้วยล่ะ
เพราะต่อให้เริ่มต้นไม่ดี และดูเหมือนว่าหุ้นจะเสียเปรียบ แต่สุดท้ายแล้วหุ้นก็ยังชนะอยู่ดี ยกตัวอย่าง
ถ้าสมมุติผมเริ่มลงทุนตอนต้นปี 2008 ก่อนเกิดวิกฤต ลงทุนเท่าๆกันทุกๆเดือนโดยหักจากเงินเดือน พอเกิดวิกฤตหุ้นตกหนัก
ผมต้องขาดทุนแน่นอน ขาดทุนมากด้วย  :vm:  คนที่เลือกลงทุนตราสารหนี้อาจจะเป็นผู้ชนะในตอนนั้น แต่หลังจากนั้น
พอหุ้นฟื้นขึ้นมา ถึงแม้ว่าจะยังไม่เท่ากับตอนก่อนเกิดวิกฤต ผมก็ยังได้กำไร (เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยจะต่ำลงเรื่อยๆ)
กำไรมากกว่าคนที่ฝากเงินหรือลงทุนตราสารหนี้(ระยะสั้น)ตั้งเยอะ
(ที่จริงผมว่าหุ้นยังขึ้นเร็วไปด้วยซ้ำ ถ้ารออีกซัก 5 ปีค่อยขึ้น ผมคงรวยขึ้นกว่านี้อีกเยอะทีเดียว  :)  )

บางคนอาจจะคิดว่า ทำไมเราไม่สลับไปสลับมาระหว่างหุ้นกับตราสารหนี้ล่ะ ตอนหุ้นจะตกเราก็เปลี่ยนไปถือตราสารหนี้ก่อน
แล้วพอตอนหุ้นจะขึ้นเราก็ค่อยเปลี่ยนมาถือหุ้น แบบนี้มันไม่ดีกว่าหรือ
ที่พูดมาดูเหมือนจะง่าย แต่รู้มั้ยว่าปี 2009 มีคน ตกรถไฟ มากแค่ไหน
ขนาด มืออาชีพ ก็ไม่เว้น ถ้าผมจำไม่ผิด ในปี 2009 กองทุนรวมหุ้นส่วนใหญ่ (เดาว่าประมาณ 90%) ก็แพ้ดัชนี
(เรื่องการสลับระหว่างหุ้นกับตราสารหนี้ Graham บอกให้ดูปันผลเทียบกับดอกเบี้ย แทนที่จะจับจังหวะตลาดจากข้อมูลเศรษฐกิจ)

คงเคยได้ยินว่า ชนะในสนามรบย่อย แต่แพ้ในสงครามหลัก ถ้าคิดเป็นสงครามระหว่าง ชาวหุ้น กับ ชาวฝาก
ในระหว่างสู้รบ บางครั้งคนลงทุนตราสารหนี้หรือคนฝากเงินอาจดูเหมือนเป็นฝ่ายชนะ
หรือต่อให้ตลาดหุ้นตกต่ำเป็น 10 ปีก็ไม่เป็นไร แค่ขอให้ปีสุดท้ายตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้นมา
แค่เพียงปีเดียวก็เพียงพอแล้วที่ ชาวหุ้น จะชนะขาดในสงครามครั้งนี้

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้เห็นถึงอันตรายจากเงินเฟ้อ และความไม่สมเหตุสมผลของ “การฝากเงินเพื่อการเกษียณ”
เผื่อจะมีใครที่ยังฝากเงินอยู่เปลี่ยนใจมาลงทุนหุ้นบ้างก็ยังดีครับ
 :D

ปล. เกือบลืม ยังไงก็ตาม หลังจากเชียร์หุ้น ต้องต่อด้วยประโยคนี้ด้วยครับ

การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน    :D

ตอนที่ 8: สรุปจากงาน Shareholder Day at เอสพลานาด โดย ดร.นิเวศน์  เหมวชิรวรากร  25-08-2007

ชีวิตนี้ต้องการหุ้นที่ยอดเยี่ยม เจ๋งๆ แค่ 10 บริษัทก็พอแล้ว 2 ปีเจอตัวก็ไม่เป็นไร ขอให้ถูกตัวละกัน

บางทีหุ้นดี แต่เราซื้อตอนมันขึ้นพรวด แล้วต่อมามันลง เราอาจคิดว่ามันไม่ดีแล้ว ทำให้ขายทิ้งไป
หรือถ้าเราซื้อหุ้นโดยไม่ดูตัวเลข ใหม่ๆอาจจะขาดทุนนานพอควร อาจจะเป็นจิตวิทยา ทำให้เราขายทิ้งไป
พอตอนหลังมันกลับมา เราก็ลืมมันไปแล้ว
แต่ถ้าเราดูตัวเลข ซื้อหุ้นไปแล้วได้กำไร เราก็จะเก็บหุ้นนั้นไว้ได้

เพราะฉะนั้น ภาพใหญ่เราต้องดูว่า เราอยากเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นรึเปล่า อย่าไปดูตลาดหุ้นมากเกินไป

วิธีการที่ง่ายและปลอดภัยและได้ผลตอบแทนดีมาก คือการลงทุนในบริษัทที่ยิ่งใหญ่ ใหญ่กว่าอันดับสองเยอะ
และเติบโตได้ และแข็งแกร่ง และเก็บไว้นานๆ

ในอดีตเมืองไทยเช่น SCC ถือเมื่อ 30 ปีก่อน กำไร 200 เท่า
ในเมืองนอกเช่น WAL-MART หรือ MICROSOFT เติบโตยาวนานมาก หลายสิบปี จนคนที่ถือรวยไปตามกัน

หุ้นพวกนี้บางทีเราคิดว่ามันเติบโตขึ้นมาหลายปี ราคาขึ้นมาพอสมควร เราคิดว่ามันคงจะหยุดแล้ว
แต่หุ้นที่เติบโตมันจะเติบโตยาวนานมาก โดยเฉพาะถ้าเรามองออก เราก็ถือมันไว้ อย่าไปสนใจอะไรมาก
ถ้ามีเงินก็เก็บเพิ่ม มีหุ้นอย่ามากเกินไป หลักๆแค่ 5-6 ตัว นี่จะเป็นโอกาสสร้างความมั่งคั่ง
บางครั้ง ซื้อหุ้นถูกตัวเดียว ชีวิตนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว

บางครั้งตัดสินใจถูกครั้งเดียวพอแล้ว อย่าไปวอกแวกมาก ว่าหุ้นตัวนู้นดี ตัวนั้นดี เพราะเราอาจจะไม่เก่งจริง

ผมเองส่วนตัวรู้สึกว่าตัวเองวิเคราะห์ไม่ค่อยเก่ง รู้สึกว่ารุ่นใหม่เก่งกว่าเราเยอะ นอกจากเก่งไม่พอแล้ว
ยังค่อนข้างขี้เกียจอีก คิดเลขก็ไม่ค่อยถูก คอมก็ใช้ไม่เป็น
มีคนมาถามว่า เลขนั้น เลขอย่างนี้เป็นไง เราก็ไม่รู้เพราะไม่เคยคิด กระแสเงินสดเป็นไง เราก็ไม่รู้
เป็นอย่างนี้จริงๆ ไม่ได้อมความรู้อะไรไว้หรอก

ผมซื้อหุ้นไม่เคยคิดตัวเลข แค่ดูเฉยๆไม่เคยเอาเครื่องคิดเลขมากดคำนวณ แค่ดูว่า กำไรเท่าไหร่ ปันผลเท่าไหร่
เรามั่นใจว่า ไม่มีวันลง มีแต่จะดีขึ้น บางทียังไม่คิดด้วยซ้ำว่า growth เท่าไหร่
เชื่อแค่ว่า กิจการจะดีขึ้นเรื่อยๆ และดียาวนาน 5 ปี 10 ปี ด้วยความเชื่อมั่นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
โตช้าหน่อยไม่เป็นไร ผมซื้อเลย

มีความเชื่ออย่างนึงว่า ถ้ากิจการยอดขายโตได้ 10% ต่อปีเรื่อยๆแทบไม่มีวันลงเลย นี่คือสวรรค์บอกได้เลย
ตอนเราแก่ มันทบต้นเรื่อยๆ มันจะท่วมจนเราไม่รู้จะทำไงเลย

เจอกิจการแบบนี้ ซื้อแล้วสบายใจ ไม่มีวันเครียด เพราะรู้ว่ามันจะโตขึ้นเรื่อยๆ ดีขึ้นๆ ราคาหุ้นจะลงหน่อย
จะอะไรหน่อยก็ไม่เป็นไร เพราะเราเห็นมันเปิดร้านใหม่/ขยายกิจการตลอดเวลา กำไรเพิ่ม ยอดขายเพิ่ม
เหมือนเด็กที่โต หรือเปรียบเหมือนเรากำลังเลี้ยงช้าง มันโตไปเรื่อยๆ มันไม่ได้โตเร็วนะ แต่โตตลอด
เราดูตั้งแต่วันแรก เห็นเลยว่าไอนี่มันช้าง

แต่ถ้าเราดูว่านี่คือกระต่าย เลี้ยงไว้วันแรกๆ โตเร็วมาก แต่ในที่สุดก็โตได้แค่นี้
เพราะกิจการมันเป็นกระต่าย มันจะโตไปได้ยังไง ผู้ใช้มันจำกัด
แต่กิจการช้างมันโตไปเรื่อย เพราะสิ่งที่มันทำเป็นสิ่งที่พวกเราใช้กันทั่วประเทศ แบบนี้จะโตใหญ่มาก

แต่กิจการอีกแบบ ที่คู่แข่งเยอะเหลือเกิน ไล่ๆกันมา พอโตมาหน่อย อีกคนก็จะมาแข่ง
โตไม่ได้มาก แต่ถึงจะโตก็ไม่กำไร

วิธีแบบนี้เป็นวิธีลงทุนแบบง่ายๆ สำหรับคนที่ไม่เก่ง วิเคราะห์ไม่เป็น แต่มีจิตใจที่มั่นคง ที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจที่ยิ่งใหญ่
และนี่ก็เป็นแนวทางการลงทุนแบบนึง ที่ไม่อาจอ้างได้ว่าดีที่สุด หรือกำไรสูงสุด แต่เป็นวิธีที่ปลอดภัยมาก
ลงทุนแล้วสบายใจ พอร์ตจะไม่มีวันลง จะโตเรื่อยๆ เป็นสิบๆปีก็ร่ำรวยและทุกคนก็ใช้ได้

เป็นพนักงานกินเงินเดือนจะร่ำรวยได้ยังไงถ้าไม่ลงทุนในหุ้น โลกสมัยใหม่นี้ทำธุรกิจมันยากมาก
ถ้าเราเพิ่งเริ่มขณะที่คนอื่นมีมานานแล้ว เราไปจอยธุรกิจที่ยิ่งใหญ่แล้วดีกว่า