Weerapong_thum

อคติของแมงเม่า/วีระพงษ์ ธัม

ผมเคยตั้งคำถามว่าสิ่งที่แตกต่างที่สุดระหว่างเซียนกับแมงเม่าคืออะไร ? ยุคสมัยนี้จะบอกว่าแมงเม่ามีข้อมูลน้อยกว่า ผมคิดว่าไม่ใช่อีกต่อไป ด้วยกระแสข้อมูลมากมาย แมงเม่าอาจจะมีข้อมูลเยอะกว่า เร็วกว่าเสียอีก เทคนิคและวิธีการลงทุนก็เป็นสิ่งที่เรียนกันทันโดยใช้เวลาไม่นานนัก และดูเหมือนช่องว่างทุกอย่างที่กล่าวมาจะแคบลงเรื่อย ๆ แต่ก็แปลกที่ผมเห็นเซียนหุ้นสามารถทำผลตอบแทนได้สูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่แมงเม่าทำผลตอบแทนได้ต่ำอยู่ตลอดเวลา ข้อสรุปส่วนตัวของผม คิดว่าช่องว่างนี้เกิดจากสิ่งที่เรียกว่า “อคติของแมงเม่า”

อคติ (Bias) หมายถึง มุมมองที่เรามีต่อสิ่ง ๆ หนึ่ง และหลายครั้งก็ปฏิเสธการมองมุมมองอื่น นำมาซึ่งการตัดสินใจที่มีคุณภาพแย่กว่า และผลลัพท์ที่แย่กว่าในระยะยาว โชคร้ายที่ในการลงทุนในระยะสั้นนั้นมี “โชค” มาเกี่ยวข้องพอสมควร จึงทำอาจจะเกิดผลลัพท์ที่ดีในระยะสั้นได้แม้ว่าจะมีอคติมากแค่ไหน หรือตัดสินใจแย่แค่ไหน อันที่จริงประเทศไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีปัญหาการเมืองสูง ส่วนหนึ่งก็เพราะจากอคติ ที่มากล้นในสังคมไทย ช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากผมต้องเลือกโรงเรียนและดูการศึกษาให้ลูก ผมจึงสังเกตเห็นว่าระบบการศึกษาไทยมีการเรียนวิชาประเภท “ปรัชญา” หรือ “การตีความ” น้อยมาก แม้กระทั่งยุคปัจจุบัน นี่อาจจะเป็นสาเหตุนี้ที่ทำให้เราไม่รู้จัก “มอง” “คิด” “วิเคราะห์” “แยกแยะ” และทำให้อคติเป็นสิ่งที่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน

สำหรับการลงทุนและธุรกิจแล้ว นิตยสาร Harvard Business Review มีการพูดถึงเรื่องการตัดสินใจ (Decision Making) ผลการศึกษาพบว่า เหตุผลหลักของการตัดสินใจที่มีคุณภาพต่ำมีสองเรื่องคือ การมีแรงจูงใจไม่มากพอ เช่น ความตั้งใจในการลงทุนที่น้อยเกินไป หรือที่ได้ยินบ่อย ๆ คือ ลงทุนเพื่อหาค่ากับข้าว แทนที่จะลงทุนเพื่อเปลี่ยนชีวิต และสาเหตุที่สองซึ่งเป็นหลักใหญ่คือ “อคติ” ซึ่งมีตัวอย่างอคติตามหมวดหมู่ดังนี้

1. อคติที่เกี่ยวกับการกระทำ เรามีแนวโน้มที่จะ “มองโลกในแง่ดี” มากกว่าการ “มองโลกในแง่ร้าย” (Excessive Optimism) แนวโน้มนี้คือ เราคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามที่เราคิด เป็นไปตามที่ผู้บริหารพูด ทั้ง ๆ ที่บางครั้งโอกาสสำเร็จอาจจะต่ำมาก อคตินี้เป็นอคติหลักในตลาดหุ้นเพราะคนที่มองโลกในแง่ร้าย มักจะไม่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น นอกจากนั้นยังอคติยังทำให้เรามี “ความมั่นใจ” สูงผิดปกติ (Over Confidence) เพราะนักลงทุนย่อมคิดว่าเราลงทุนได้ “เก่งกว่า” กองทุนหรือคนอื่น ๆ (ไม่เช่นนั้นเราคงไม่ลงทุนเอง) แมงเม่าจะมีอคติเรื่องนี้สูง จึงลงทุนในหุ้นที่ “ยาก” และ “เสี่ยง” กว่า (แต่มักจะคิดว่าตัวเองไม่เสี่ยง เพราะการมองโลกในแง่ดีและมั่นใจในตัวเอง) ต่างจากนักลงทุนชั้นยอดที่มอง “ความเสี่ยง” และเน้นความปลอดภัยไว้ก่อน

2. อคติที่เกี่ยวกับวิธีคิด ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ทำให้เรามองมุมมองอื่น ๆ ลดลง เช่น ถ้าเราค่อนข้างเชื่อในความคิดของเรา เรามักจะมุ่งที่จะ “เลือก” หาแต่สิ่งที่ “เกื้อหนุน” ความคิดเรามายืนยันสิ่งที่เราคิด (Confirmation Bias) โดยละเลยความคิดอื่นที่หักล้างความคิดหลักของเรา หูเราจะทวนลม หรือมองข้าม ถ้าความคิดนั้นเป็นสิ่งตรงข้าม แต่เราจะเลือกจดจ่อรับฟังเฉพาะสิ่งที่เราคิดไว้ หรือเราค่อนข้าง “ยึดติด” ความคิดเดิมของเรา (Anchoring) หุ้นตัวนี้เคยมีราคาเท่านี้ เราไม่ได้ซื้อ ตอนนี้ราคาขึ้นมาแล้ว เราจะยิ่งไม่อยากจะซื้อ เนื่องจากอคติข้อนี้

3. อคติที่เกียวกับกรอบการมองต่าง กรอบที่สำคัญที่สุดของนักลงทุนคือ “ราคาต้นทุน” (Sunk Cost Fallacy) ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของเราอย่างไม่น่าเชื่อ เรามีแนวโน้มที่จะขายหุ้นได้ง่ายกว่ามากถ้าเรามีต้นทุนที่ต่ำ และเราจะไม่ขายหุ้นถ้ามีต้นทุนที่สูง ซึ่งกรอบความคิดแบบนี้มักจะพาเราสู่ความล้มเหลว อันที่จริงราคาต้นทุนเราแก้ไขไม่ได้แล้ว ถือว่าไม่มีค่า สิ่งที่มีค่าคือราคาปัจจุบันต่างหาก หรือการที่คนเราไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ทำให้สิ่งนี้เป็น “ต้นทุน” และ “กรอบความคิด” ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น (Status Quo Bias) เช่น เราชอบหุ้นตัวนี้ กลุ่มนี้ ไม่อยากจะไปศึกษาตัวใหม่ ๆ เป็นต้น

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่อคติในโลกความเป็นจริงมีมากกว่านี้มาก อคติเป็นธรรมชาติที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด สิ่งที่เราทำได้คือให้รู้ว่ามันมีอยู่ในตัวเราเสมอ ๆ พยายามคิดหลาย ๆ ครั้งหลาย ๆ มุม และตีความไปที่ปัญหา ฝึกเทคนิคในการแก้ไขอคติในแต่ละข้อ และให้พยายามเตือนตัวเองว่าอคติเราจะยิ่งมากขึ้น ถ้าเรามีแรงกดดัน จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทุกครั้งที่หุ้นวิ่งและหุ้นลง ตัวกระพริบ ความรู้สึกขาดทุน กำไร ยิ่งทำให้อคติเรามากกว่าเดิม และเป็นจุดเริ่มต้นของอคติขนาดมหึมาของนักลงทุนที่เป็นแมงเม่าเสมอ ๆ