ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เศรษฐกิจไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปของไทย หรือไปไม่ค่อยเป็นและกำลังจะเป็นไปทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งผมขอให้ความเห็นดังนี้

1. เศรษฐกิจไทยย้ำแย่เหมือนกับวิกฤติปี 2540 (1997) สถานการณ์แตกต่างกันมาก และผมไม่เชื่อว่าครั้งนี้จะเกิดวิกฤติเช่นเดียวกับปี 1997 ในครั้งนั้นประเทศไทยใช้เงินเกินตัว ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 8% ของจีดีพี ต้องกู้เงินต่างประเทศมาใช้จ่าย เมื่อเขาพยายามถอนเงินออก (บวกการถูกเก็งกำไรค่าเงินบาท) ทุนสำรองที่มีอยู่ 30,000 ล้านดอลลาร์ ก็ไม่พอกับหนี้ต่างประเทศประมาณ 80,000 ล้านดอลลาร์ ต้องขอกู้ไอเอ็มเอฟ โดยให้ไอเอ็มเอฟเข้ามาช่วยบริหารเศรษฐกิจประเทศ โดยใช้ยาแรง (ขึ้นภาษี ลดรายจ่ายภาครัฐและขึ้นดอกเบี้ย) สถาบันการเงินจึงล้มระเนระนาด และเงินบาทอ่อนค่าลงเป็น 50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ทำให้การส่งออกดีขึ้นผิดหูผิดตา และการนำเข้าหดตัวอย่างรุนแรง

ในวิกฤตินั้นคนจนรวยขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกร แต่คนรวยหมดตัวไปหลายราย ตอนจบการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 35% ในปี 1996 มาเป็น 65% ในปี 2006 กล่าวคือการส่งออกเป็นหัวจักรในการฟื้นเศรษฐกิจและใช้คืนหนี้ต่างประเทศ นอกจากนั้น ก็พึ่งพาต่างชาติให้เข้ามาเพิ่มทุน (ช่วยเป็นเจ้าของ) สถาบันการเงินและบริษัทขนาดใหญ่ของไทย

มาวันนี้สถาบันการเงินและบริษัทขนาดใหญ่ของไทยแข็งแรง หนี้ต่างประเทศประมาณ 120,000 ล้านดอลลาร์ น้อยกว่าทุนสำรองสุทธิประมาณ 180,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้น ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 5% ของจีดีพี แปลว่าคนไทยทั้งประเทศใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ประมาณ 6 แสนล้านบาท แต่กำลังซื้อส่วนเกินนั้นอยู่ในมือของคนรวย

เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าชาวนาเผชิญกับปัญหาราคาพืชผลตกต่ำและภัยแล้ง มนุษย์เงินเดือนก็ถูกตัดเงินนอกเวลา เพราะยอดขายหดและใช้กำลังการผลิตเพียง 60% เนื่องจากยอดส่งออกไม่กระเตื้อง และธนาคารพาณิชย์เองก็เป็นห่วงเรื่องหนี้เสีย ทำให้ระมัดระวังการปล่อยกู้เพิ่ม กล่าวคือครั้งนี้คนจนและชนชั้นกลางลำบากกันถ้วนหน้า แต่โดยรวมแล้วประเทศมีสถานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงแข็งแรง แต่เศรษฐกิจขยายตัวช้า โดยภัทรฯ คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวจริงเพียง 2.5% และเนื่องจากเงินเฟ้อจะติดลบ การขยายตัวบวกเงินเฟ้อจึงจำต่ำกว่านั้นอีก

2. มีข่าวดีอะไรบ้างที่จะทำให้มีความหวัง? มีอยู่ 3 ปัจจัยที่อาจมองได้ว่าเป็น “ข่าวดี” คือรัฐบาลพยายามเร่งเบิกงบลงทุนและตั้งงบลงทุนเพิ่มขึ้น 90,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณหน้า กล่าวคืองบลงทุนในปี 2014 เท่ากับ 441,000 ล้านบาท แต่ในปี 2015 งบลงทุนเพิ่มขึ้นเพียง 9,000 ล้านเป็น 450,000 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังเบิกจ่ายได้เพียง 25-30% ในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2015 แต่มองไปข้างหน้า หากรัฐบาลทำได้ตามสัญญา คือจะเบิกจ่ายอีก 50% (225,000 ล้านบาท) และยังจะมีงบปี 2016 รอเบิกจ่ายอีก 540,000 ล้านบาท ก็อาจมองได้ว่ามีนัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ การลงทุนของรัฐจะมีประโยชน์ที่สุดหากเป็นปัจจัยที่จุดประกาย (catalyst) ให้ภาคเอกชนลงทุนตาม (หรือลงทุนเพื่อรองรับลงทุนจากรัฐบาล) ทั้งนี้ เพราะการลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจรวมกันประมาณ 6% ของจีดีพีเท่านั้น ไม่สามารถเป็นหัวจักรในการฟื้นเศรษฐกิจได้ แต่หากเอกชนร่วมลงทุนอาจมีพลังเพียงพอ เพราะการลงทุนเอกชนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18-20% ของจีดีพี
ปัจจัยที่ 3 คือ การท่องเที่ยว ซึ่งยอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ และการท่องเที่ยวก็ทำรายได้ประมาณ 10% ของจีดีพี แปลว่าหากภาคส่วนของเศรษฐกิจประมาณ 1/3 ไปได้ดี (การท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน) ก็พอจะหวังได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.5% ในปี 2016

ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอีก 2 ส่วนคือ การส่งออก (60% ของจีดีพี) และการบริโภคเอกชน (50% ของจีดีพี) นั้น ก็คาดหวังว่าจะไม่ทรุดตัวลงมากนัก เพราะปัจจัยเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น (ทำให้การส่งออกไทยในปีหน้าขยายตัวได้) และการบริโภคโตได้บ้าง แต่ต่ำกว่าจีดีพีโดยรวม เพราะครัวเรือนต้องลดสัดส่วนของหนี้สินลง ทั้งนี้ ความเสี่ยงจากต่างประเทศที่เกรงว่าจะกระทบการส่งออกของไทยคือ ความเป็นไปได้ที่เงินหยวนของจีนจะอ่อนค่าลง นอกจากนั้น ก็ยังมีแรงต้านจากปัญหาภัยแล้ง ปัญหาประมง (IUU) และความเสี่ยงบางประการด้านการท่องเที่ยว (ปัญหาการบินกับ ICAO และโรค Mers เป็นต้น)

3. อนาคตของเศรษฐกิจไทย แต่ก่อนเศรษฐกิจไทยขยายตัว 7-8% ต่อปี แต่ในระยะหลังนี้ขยายตัวเพียง 2-3% ต่อปี เพราะแต่ก่อนการส่งออกขยายตัวเกือบ 2 เท่าของจีดีพี และการลงทุนภาคเอกชนก็สูงถึง 30-40% ของจีดีพี ซึ่งในความเห็นของผมนั้นในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพราะอาศัยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวประมาณ 5% ต่อปี เทียบกับภาคเกษตรที่ขยายตัวเพียง 3% ทำให้ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพี เพิ่มขึ้นจาก 25% เมื่อ 25 ปีที่แล้ว มาเป็น 29% ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ โดยอาศัยการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย มาใช้เป็นพลังงานราคาถูก และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และได้มีการลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรม มารองรับการย้ายฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นมาแล้ว 2 รอบใหญ่ๆ ในช่วงที่เงินเยนแข็งค่าคือ 1985-1990 และ 2000-2005 แต่ปัจจุบันเงินเยนอ่อนค่าและก๊าซธรรมชาติก็เหลือใช้ไม่ถึง 10 ปี

ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องประเมินตัวเองว่าจะ “หากินยังไง” ในอนาคต เพราะ “อาชีพ” ที่ทำอยู่เดิมนั้น มีลู่ทางในการขยายตัวต่ำมาก จะอาศัยการท่องเที่ยวหรือต่อยอดโดยการเป็นศูนย์ทางการแพทย์ (medical tourism) หรือการเป็นที่ให้คนต่างชาติสูงวัยมาพำนักในประเทศไทยปีละ 4-5 เดือนหรือนานกว่านั้น เป็นต้น

การจะขยายฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่อไปอีก ดูเหมือนว่าจะมีความลำบากมากขึ้น เพราะพลังงานก็อาจขาดแคลน (การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวมีต้นทุนสูงกว่าก๊าซที่ใช้อยู่ปัจจุบันประมาณ 20%) การลงทุนจากญี่ปุ่นและยุโรปก็น่าจะขยายตัวไม่มาก เพราะเงินของทั้งสองประเทศอ่อนค่าลงอย่างมาก และที่สำคัญคือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า เขมร และเวียดนาม ก็มีแรงงานราคาถูกกว่าไทยอย่างมาก ส่วนแรงงานที่มีการศึกษาสูงของไทยก็ยังขาดแคลนเช่นกัน

ทั้งนี้ หากความพยายามเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans Pacific Partnership หรือ TPP) ประสบความสำเร็จในปลายปีนี้ ก็จะยิ่งเป็นการบั่นทอนอนาคตทางเศรษฐกิจของไทย เพราะไทยมิได้เป็นส่วนหนึ่งของทีพีพี แต่เวียดนาม มาเลเซียและสิงคโปร์ น่าจะได้ประโยชน์จากความตกลงดังกล่าวที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรีใน 12 ประเทศ ที่มีมูลค่าจีดีพีรวมกันเกือบ 40% ของจีดีพีโลก โดยครอบคลุมประเทศคู่ค้าที่สำคัญๆ ของไทย เช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เป็นต้น