Weerapong_thum

ข่าวดีเศรษฐกิจไทย? /วีระพงษ์ ธัม

ประเทศไทยในเวลานี้เหมือนกับขาด “ข่าวดี” มาอย่างยาวนาน แทบจะพลิกหาข่าวดีไม่เจอในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ในวิกฤตย่อมเกิดโอกาส ในข่าวร้ายก็มีข่าวดีแฝงเสมอ ผมจะลองมองต่างมุมกับข่าวเศรษฐกิจไทย

Economy News

การส่งออกที่ชะลอตัวอย่างมากในปีนี้ แท้จริงแล้วถ้าดูในรายละเอียด ส่วนที่ส่งออกลดลงอย่างมาก ก็เนื่องจาก “ราคา” สินค้าประเภทโภคภัณฑ์ที่ลดลงอย่างรุนแรง เช่น สินค้าเกษตร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน แต่สำหรับสินค้าบางอย่างเช่น รถยนต์ ก็แสดงให้เห็นตัวเลขที่เติบโต โดยเฉพาะหมวดรถกระบะซึ่งแสดงถึงความแข็งแรงของภาคยานยนต์ของไทย นอกจากนั้นในช่วงเวลานี้ ประเทศก็เริ่มแก้ไขปัญหาที่คาราคาซังมานาน เช่นการประมง การเกษตรที่มีประสิทธิภาพต่ำ นำมาซึ่งผลดีในระยะยาว ส่วนสินค้าหมวดอิเล็กโทรนิคโดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์หลังจากโดนผลกระทบมาโดยตลอดก็เริ่มตั้งตัวและหาพื้นที่เติบโตได้ ธุรกิจอาหารก็เริ่มสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการส่งออกแม้ฝืดไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นเครื่องจักรสำคัญที่กำลังผ่านช่วงปรับตัว

ในแง่การส่งออก “บริการ” เราทำได้อย่างโดดเด่น แม้ว่าตลาดรัสเซียจะหดตัวอย่างรุนแรงแต่ยอดนักท่องเที่ยวเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่นโรงแรม สปา บริการทางการแพทย์ ก็มีผลประกอบการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและกำลังเป็นพระเอกของประเทศในอนาคต ยังไม่นับธุรกิจ “โรงเรียน” ซึ่งผมเห็นแนวโน้มเติบโตโดยตลอด โดยเฉพาะธุรกิจโรงเรียนนานาชาติหรือภาคอินเตอร์ เรียกได้ว่าบริษัทจดทะเบียนไทยในหมวดบริการค่อย ๆ ก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคหรือระดับโลกแล้ว

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีข่าวร้ายมาโดยตลอด ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ตลาดต่างจังหวัดชะลอตัว และตลาดกรุงเทพฯ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมหดตัวอย่างรวดเร็ว ก็มีข่าวดีซ่อนอยู่ คือ การที่เราเริ่มเห็นนักลงทุนหรือผู้ซื้อจาก “ต่างประเทศ” เข้ามาซื้อคอนโดฯในประเทศไทยจำนวนมาก คอนโดฯบางแห่ง ถึงขั้น “ล็อคห้อง” ให้กับผู้ซื้อต่างชาติกันทีเดียว การที่เราสามารถส่งออก “ที่อยู่อาศัย” แสดงให้เห็นว่าเมืองหลัก ๆ ในไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มีศักยภาพที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นเมืองที่อยู่อาศัยระดับภูมิภาค กรุงเทพฯน่าอยู่ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะภาครัฐและเอกชนช่วยกันมาโดยตลอด จุดสำคัญคือการดึงดูด “คน” ได้ คือพื้นฐานของการสร้าง “เมือง”

สำหรับการบริโภคในประเทศที่หดตัว สาเหตุหลัก ๆ คือการ “บริโภคเกินตัว” ในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่กระแส “ผ่อน Iphone เครื่องแรก” “ผ่อนรถคันแรก” “ผ่อนบ้านหลังแรก” “ผ่อนทีวีจอแบนดูบอลโลก” “ผ่อนบัตรกดเงินต่าง ๆ” ทำให้หนี้ภาคครัวเรือนเราถีบตัวสูงขึ้นเร็วมาก แต่นี่คือช่วงเวลา “เรียนรู้” ของคนไทยในการก้าวจากยุค “นักออม” สู่ยุค “บริโภคนิยม” ตามกระแสโลก บทเรียนเรื่องการไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ เป็นบทเรียนที่สำคัญของคนไทยรุ่นลูกของ Baby Boomer แต่ในทางกลับกันผู้ที่เคยเรียนรู้บทเรียนนี้มาแล้ว อย่างภาครัฐ หรือภาคเอกชน ก็มีฐานะคงคลังและงบดุลที่แข็งแรงมาก เรามีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงอันดับต้น ๆ ของโลกทีเดียว

การลงทุนของไทยก็ชะลอตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ แต่ถ้าดูดี ๆ แล้ว การลงทุนของ “ผู้เล่นรายใหญ่” ก็ไม่ได้ลดถอยลง การลงทุนใหญ่ ๆ ยังมีให้เห็นอยู่ พร้อม ๆ กับการลงทุน Mega Project ของภาครัฐ ซึ่งแม้จะช้าไปบ้าง แต่เราอย่าลืมว่าเราแทบไม่ได้จริงจังในการลงทุนเรื่องเหล่านี้มาเป็นสิบปี สนามบินอย่างสุวรรณภูมิก็ใช้เวลาสร้างหลายสิบปี ดังนั้นการคาดหวังให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นหลักเดือนก็คงเป็นสิ่งที่คาดหวังเกินความสามารถของประเทศ แต่ถ้าใน 2-3 ปีนี้เราเริ่มเห็นการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว และนี่จะเป็น “อนาคตใหม่” ของประเทศไทย

สำหรับข่าวร้ายของเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีเข้ามาทุก ๆ วัน หากวิเคราะห์ดูแล้วนี่คือสิ่งที่โลกกำลังปรับตัว ประเทศในเอเชียซึ่ง “ทำงานหนักมาก” สมควรที่จะได้รับผลตอบแทนอย่างสมเหตุสมผล รัฐที่อ่อนแอกว่าก็ควรจะปรับตัวถอยลง นี่คือธรรมชาติของระบบทุนนิยมที่มีการแข่งขันกันเกือบสมบูรณ์ เมื่อมีรัฐหนึ่งล่มสลาย ก็ต้องมีรัฐหนึ่งที่รุ่งเรือง รัฐที่รุ่งเรืองเร็วเกินไปก็ควรจะชะลอตัวลงบ้าง และประเทศที่เติบโตเร็วในอนาคตจะประกอบด้วยประเทศในเอเชียอยู่หลาย ๆ ประเทศ รวมถึงเพื่อนบ้านอย่างกลุ่ม CLMV

สุดท้ายในแง่นักลงทุน นี่คือเวลาที่วิเศษ ตั้งแต่การจับจ่ายซื้อสินค้าก็ได้ราคา “ถูกมาก” เรียกได้ว่ามี Sales 50% แทบทุกอาทิตย์ หุ้นไทยก็ชะลอตัวมาอย่างยาวนาน แม้ว่าจะไม่ถูก แต่ถ้าเลือก “หุ้น” ให้ดี ก็เริ่มมีหุ้น Super Stock PE แค่ 20 เท่าต้น ๆ ให้เห็นแล้ว หลังจากที่ไม่ได้เห็นมายาวนานหลาย ๆ ปี เหนือสิ่งอื่นใด นี่คือเวลาที่เราควรจะเริ่มเชื่อมั่นในพื้นฐานระยะยาวของประเทศและช่วยให้เศรษฐกิจไทยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ในที่สุด