ก่อนที่จะคิดถึงเรื่องการลงทุนนั้น สิ่งสำคัญอันดับแรกก็คือการตรวจสอบหรือประเมินตัวเราเองว่าสถานะและศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจของเราเป็นอย่างไร จากนั้นเราถึงจะสามารถวางกลยุทธ์และแนวทางที่ถูกต้องที่จะทำให้การลงทุนของเรามีความเหมาะสมที่สุด การวางแผนการเงินแบบ “มาตรฐาน” เช่น เราควรจะจัดพอร์ตการลงทุนที่ประกอบไปด้วยเงินลงทุนระยะสั้นที่เป็นเงินสดเท่านั้นเท่านี้ ต้องมีตราสารหนี้ระยะยาว มีหุ้นและมีตราสารการเงินอื่น ๆ ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงหรืออายุของเรา และสุดท้ายบางทีก็บอกว่าเราควรจะต้องมีประกันชีวิตเพื่อป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่เราตายก่อนกำหนด เป็นต้น นั้น ผมคิดว่าเป็นเพียงหลักการกว้าง ๆ ที่ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน ลองมาดูกันว่าอะไรคือปัจจัยที่เราจะต้องคำนึงถึงก่อนเริ่มวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลของเรา
เรื่องแรกก็คือ เรามีทรัพย์สินสุทธิเท่าไร? บางคนมีเงินหรือมีทรัพย์สมบัติมากเป็นหลายร้อยหรือเป็นพัน ๆ ล้านบาท เหตุผลในการที่จะทำประกันชีวิตจึงแทบไม่มี เพราะถ้าเขาตาย เงินมรดกก็มากมายพอที่จะทำให้ลูกหลานสบายเต็มที่อยู่แล้ว เงินทุนประกันชีวิตสูงสุดที่ส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน 10-20 ล้านบาทนั้นย่อมไม่มีความหมายอะไร เหตุผลที่จะซื้อประกันเพื่อจะได้ผลตอบแทนที่ดี เช่น เฉลี่ยปีละอาจจะถึง 4% เมื่อรวมการได้รับลดหย่อนเรื่องภาษีเงินได้อาจจะถึง 5% ที่คนขายประกันมักพยายามนำมาชักชวนให้ซื้อประกันนั้น ผมคิดว่าในระยะยาวแล้วไม่คุ้มค่าสำหรับคนที่มีเงินมาก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เราไม่สามารถ“ลงทุน” ในการประกันชีวิตเป็นเงินมาก ๆ เมื่อเทียบกับเงินทั้งหมดของเราได้
“ความเสี่ยง” สำหรับคนที่มีเงินมากเหลือเฟือและไม่มีหนี้หรือภาระที่อาจจะต้องรับ กับความเสี่ยงของคนที่มีเงินหรือทรัพย์สินสุทธิไม่มากนั้นผมคิดว่าแตกต่างกัน คนที่มีเงินมากพอที่จะสามารถใช้ชีวิตอย่างสุขสบายตลอดชีวิตทั้งของตนเองและลูกหลานอยู่แล้วนั้น ความเสี่ยงที่สำคัญอาจจะไม่ใช่ความเสี่ยงในการลงทุนตามปกติที่เกิดจากตราสารการเงินเช่น หุ้นหรือพันธบัตร หรือเงินฝาก หรือแม้แต่การลงทุนในธุรกิจหรือในอสังหาริมทรัพย์ เพราะการลงทุนเหล่านั้น แม้ว่าเขาจะขาดทุนไปครึ่งหนึ่งหรือขาดทุนไป 75% เงินที่เหลืออยู่ 25% ก็ยังเพียงพอที่เขาอาจจะอยู่ได้อย่างสบาย แต่ความเสี่ยงของเขาจริง ๆ นั้น อาจจะเป็นความเสี่ยงที่เกิดจาก “ระบบ” หรือกฎเกณฑ์ของรัฐหรือประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปที่อาจจะทำลายการลงทุนของเขาจนหมดสิ้นไป สิ่งเหล่านี้ในบ้านเราอาจจะไม่เคยเกิดขึ้น แต่ในบางประเทศเช่น ในยุโรปตะวันออกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ผมคิดว่าคนรวยหรือแม้แต่มหาเศรษฐีจำนวนไม่น้อยต้อง “สิ้นเนื้อประดาตัว” เพราะเมื่อเกิดสงคราม โรงงานหรือธุรกิจอาจถูกระเบิดทำลายไป เงินฝากที่มีอยู่ก็เฟ้อเนื่องจากประเทศแพ้สงครามหมดค่าลง บางคนมีที่ดินเหลือแต่หลังสงครามประเทศกลายเป็นคอมมิวนิสต์ที่ดินจึงถูกยึดเป็นของรัฐ ดังนั้น สำหรับคนเหล่านี้ การลงทุนที่สำคัญมากที่จะลดความเสี่ยงจริง ๆ จึงอาจจะอยู่ที่การกระจายการลงทุนไปในหลาย ๆ ประเทศซึ่งจะทำให้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาก็ยังมีเงินพอที่จะใช้ชีวิตที่สุขสบายได้
ข้อตรวจสอบตัวเองต่อมาก็คือเรื่องของรายได้จากการทำงาน ถ้างานของเรานั้นทำเงินได้ดีและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น เรามีอาชีพเป็นหมอศัลยกรรม และเราคิดว่าเมื่อถึงเวลาที่เราต้องใช้เงินมากในอนาคตเช่น การส่งลูกเรียนต่างประเทศ เราก็น่าจะมีกำลังที่ทำได้ด้วยรายได้จากเงินเดือน ในกรณีแบบนี้ เราก็สามารถลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงเช่นหุ้นได้มากในขณะนี้ แต่ถ้างานในปัจจุบันนั้นถึงจะมีรายได้ดีแต่ไม่ได้มีความแน่นอนมาก การลงทุนของเราก็อาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้น เช่น อาจจะต้องลงทุนในตราสารการเงินที่เสี่ยงน้อยกว่าเช่น การลงทุนในพันธบัตรมากกว่า เป็นต้น หรือในกรณีที่เรามีรายได้ไม่มากแต่มีความมั่นคงในการทำงาน แผนการเงินของเราอาจจะเป็นเรื่องของการพยายามอดออมและกันเงินไว้ลงทุนในหุ้นอย่างสม่ำเสมอ ด้วยวิธีนี้ แม้ว่าเงินที่ลงทุนอาจจะน้อย แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไปยาวนาน เราก็อาจจะมีทรัพย์สินที่มากพอและมีชีวิตที่สุขสบายได้ในยามที่เราแก่ตัวลง
เรื่องของอายุก็เป็นปัจจัยสำคัญของการกำหนดแนวทางในการลงทุน ถ้าอายุเราน้อยและมีกำลังทำงานเต็มที่ การลงทุนที่ “เสี่ยง” ประเภทลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์หรือบางทีมากกว่านั้น ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ “ไม่เสี่ยง” เพราะเราสามารถ “แก้ตัว” นั่นคือ หาเงินมาใช้เลี้ยงชีวิตตนเองตามอัตภาพได้เสมอ แต่เมื่อเรามีครอบครัวที่ต้องอุปการะหรืออายุมาก 40-50 ปีขึ้นไปแล้ว การลงทุนก็ควรจะ Balance หรือมีความสมดุลขึ้น เช่น ควรจะมีการลงทุนเป็นพอร์ตโฟลิโอที่มีการลงทุนทั้งด้านของหุ้น ตราสารหนี้ และอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งเงินสดและการประกันชีวิต ที่จะทำให้เรามีความสบายใจว่าเงินจะไม่หายไปมากในกรณีที่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายหรือเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องการผลตอบแทนที่ดีพอสมควรที่จะทำให้ความมั่งคั่งของเราไม่ลดลงเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่กัดกินค่าของเงินอย่างช้า ๆ ตลอดเวลา
ค่าใช้จ่ายทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่เราจะต้องคาดการณ์ไว้ล่วงหน้านั้น น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญมากอย่างหนึ่งในการวางแผนการเงินและการลงทุน รายจ่ายที่สำคัญมากที่สุดที่ต้องคำนึงถึงก็คือ รายจ่ายทางด้านการศึกษาของลูกและรายจ่ายทางด้านการรักษาพยาบาลของพ่อแม่ถ้าเราเป็นคนที่จะต้องรับผิดชอบ และค่าใช้จ่ายของตัวเราเองเวลาเจ็บไข้ เรื่องของลูกนั้น นอกจากจำนวนที่เรามีหรือต้องการที่จะมีแล้ว เราคงต้องวางแผนว่าจะให้เขาเรียนที่ไหนในระดับประถมถึงมัธยม และระดับปริญญาตรี-โท ในประเทศหรือต่างประเทศ เพราะค่าใช้จ่ายนั้นแตกต่างกันมาก ในเรื่องของการรักษาพยาบาลนั้น โชคดีที่ประเทศเรามีระบบสวัสดิการสังคมที่ดีมาก ดังนั้น ถ้าเราวางแผนที่ดีพอ เราจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากโดยการสมัครในโปรแกรมต่าง ๆ เช่น ประกันสังคม ที่จะทำให้เราได้รับความคุ้มครองด้วยรายจ่ายที่ไม่สูงเกินไป ส่วนในเรื่องของการศึกษานั้น รายจ่ายที่มากน้อยมักจะอยู่ที่เราเลือกว่าจะให้ลูกไปทางสาย “อินเตอร์” หรือสาย “ไทย” ความเห็นของผมก็คือ ในระดับกลาง ๆ ค่อนข้างสูงก็คือ เน้นอินเตอร์ในประเทศจนจบปริญญาตรี แล้วถ้ามีโอกาสก็ไปต่อโทต่างประเทศที่เป็นโปรแกรม 1 ปี นี่น่าจะเพียงพอสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะต้อง “ต่อสู้” ในโลกที่เป็น “สากล”
สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ความรู้และประสบการณ์ในการลงทุน คนที่มีพื้นฐานทางด้านการคำนวณหรือทางด้านวิทยาศาสตร์นั้น มักจะมีความได้เปรียบในการศึกษาเรื่องของการลงทุน โดยที่ไม่จำเป็นต้องเรียนมาทางสายการเงินหรือทางธุรกิจพวกเขาสามารถศึกษาเรื่องการลงทุนได้ไม่ยากนัก แต่คนที่เป็น “หัวศิลป์” จำนวนไม่น้อยไม่สามารถวิเคราะห์หุ้นได้ แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นว่าเราไม่สามารถลงทุนในหุ้นได้ ว่าที่จริง ปีเตอร์ ลินช์ เคยพูดว่า “ถ้าเรารู้ว่าเราโง่เรื่องการเงิน เราก็หายโง่แล้ว” วิธีที่จะลงทุนในหุ้นแบบคนที่ไม่รู้เรื่องหรือวิเคราะห์หุ้นไม่เป็นที่ดีที่สุดก็คือ การซื้อกองทุนอิงดัชนีเช่น SET 50 ไปเรื่อย ๆ เมื่อมีเงินลงทุน ด้วยวิธีนี้ คนที่ไม่เก่งเรื่องหุ้นก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีพอใช้ได้ และบ่อยครั้งก็ดีกว่า“มืออาชีพ” ด้วยซ้ำ การมีความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนที่ดีนั้น ผมคิดว่าทำให้แผนการเงินหรือการลงทุนของคน ๆ นั้นอาจจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเกณฑ์มาตรฐาน การ “ถือหุ้น 100% ตลอดไป” นั้น ดูเหมือนจะเป็นกลยุทธ์ของ VI ผู้มุ่งมั่น จำนวนมากในทศวรรษนี้ ว่าที่จริง หลายคนที่ประสบความสำเร็จสูงนั้น ลงทุนในหุ้นเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องยาวนาน ผมเองคิดว่านี่ไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมและอาจจะดีเฉพาะในบางสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม แผน แนวทาง หรือกลยุทธ์การลงทุน นั้นเป็นเรื่องของแต่ละคน เขาอาจจะมีเงินหรือมีทรัพย์สมบัติที่จะสามารถ “รองรับขั้นสุดท้าย” เช่น มีพ่อแม่ที่มีเงินมากพอในกรณีที่เขา “หายนะ” เป็นต้น ดังนั้น เราจึงไม่สามารถจะบอกว่าผิดหรือถูก เราควรจะคิดว่าเรื่องการลงทุนนั้น “ตัวใครตัวมัน”