3 กูรูด้านการลงทุน แนะวิธีส่งต่อความมั่งคั่งสู่ทายาท พร้อมวิธีสอนลูกใช้เงินอย่างคุ้มค่าและเป็นสุข
คนฟุ่มเฟือยชอบทำอะไรเกินตัว แม้จะร่ำรวยสุดท้ายก็มักขัดสน คนนิสัยประหยัด แม้จะยากจนก็มักมีเหลือเก็บ ความสำคัญของ “เงิน” อยู่ที่คุณค่าการใช้ ไม่ใช่ “ปริมาณ” สามดอกเตอร์สอนลูกเรื่องเงิน ส่งต่อ “ความรวย” ด้วยศาสตร์และศิลป์ เพราะพวกเขามองว่า..ชีวิตของลูกอยู่ในกำมือของพ่อแม่
ตลอดชีวิตการลงทุนที่ผ่านมา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จะเลือกเฟ้นแต่เฉพาะหุ้น “เฟิร์สคลาส” (ชั้นหนึ่ง) ตรงกันข้ามกับวิถีการใช้ชีวิตจะใช้แบบ Economy (คุ้มค่า) โดยมองทุกอย่างที่ความคุ้มค่าของเงิน และประโยชน์ที่ได้รับกลับมา โดยจะไม่จ่ายอะไรที่แพงเกินความจำเป็น เพราะฉะนั้น “การใช้จ่าย” เพื่อซื้อความสุข สำหรับ Value Investor จึงไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง
กูรูด้านการลงทุนหุ้นคุณค่าหมายเลขหนึ่งของเมืองไทย เล่าว่า วิธีสอนเรื่องการใช้เงินกับ “น้องแจน” น.ส.พิสชา เหมวชิรวรากร (นักศึกษาหลักสูตรนานาชาติ สาขาการจัดการการสื่อสารคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ) ลูกสาวคนเดียว ในฐานะพ่อจะทำตัวให้เป็นตัวอย่าง มากกว่าบอกว่าลูกต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้
ส่วนตัวคิดว่าเด็กสมัยใหม่บางคน ไม่ถูกกดดันให้ต้องหาเงินเอง ทำให้มีคำถามกลับมาว่าทำไมต้องประหยัดด้วย อย่างเช่นน้องแจนไปเที่ยวบ้านเพื่อน ก็จะกลับมาถามว่าทำไมเราไม่สร้างบ้านให้ใหญ่เหมือนเขา (ทั้งๆ ที่รู้ว่าพ่อรวย) คนเป็นพ่อแม่จะต้องอธิบายให้เขาฟังด้วยเหตุผลว่า อะไรที่จำเป็นอะไรไม่จำเป็น
ดร.นิเวศน์ เคยเล่าว่า ทุกวันนี้ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง บ้านของดอกเตอร์เป็นบ้านชั้นเดียวเล็กๆ บนเนื้อที่ไม่กี่ตารางวา ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิของแม่ยาย ทุกคนอยู่รวมกัน เห็นหน้ากันทุกวัน ไม่มีพื้นที่สำหรับความเป็นส่วนตัว ไม่มีคนรับใช้ แต่บ้านหลังนี้ไม่เคยปราศจากไออุ่นของทุกคน
“บ้านผมมีห้องเดียวนะ เป็นบ้านที่อยู่ตั้งแต่สมัยที่ไม่มีตังค์เลย ตอนแต่งงานใหม่ๆ ชีวิตทำงานกินเงินเดือน ก็ไม่ได้มีตังค์มาก ทุกวันนี้ก็ยังอยู่บ้านหลังเดิม…ความสะดวกสบายในบ้านจริงๆ มีน้อย บ้านหลังเล็กมาก แต่ผมไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่านี้ เพราะมาคิดดูอีกทีถามว่าไปอยู่บ้านหลังใหญ่ๆ โตๆ ได้มั้ย มันก็ได้ แต่บ้านใหญ่โตไม่ได้ให้ความสุขกับเรามากไปกว่าบ้านหลังเล็ก ทุกคนใกล้ชิดกัน เจอหน้ากันทั้งวัน”
หลักการเรื่องความคุ้มค่าของเงินจะต้องมาพร้อมกับ “ความสุข” เสมอ เรื่องนี้ ดร.นิเวศน์ เชื่อว่า สิ่งใดที่ต้องจ่ายแพงๆ แล้วจะต้องกลายเป็น “ทาส” ของสิ่งนั้น ตัวเอง “จะไม่ทำ” ยกตัวอย่างการซื้อรถยนต์ หรือซื้อบ้านราคาแพงๆ แล้วต้องเป็นทุกข์กับการทำความสะอาดบ่อยๆ แบบนี้ไม่ถือว่าเป็นความสุขจริง
ตรงกันข้ามกับของบางอย่างถ้าต้อง “จ่ายแพง” แลกกับประโยชน์ที่คุ้มค่าระยะยาวก็จำเป็น โดยเฉพาะเรื่อง “การศึกษาบุตร” สมัยเมื่อ 20 ปีก่อนยังไม่มีเงินมากเท่าตอนนี้ ตอนนั้นตัดสินใจส่งน้องแจนเรียนหลักสูตรอินเตอร์ แม้ราคาจะแพงแต่มองว่านี่ คือการลงทุน ที่จะออกดอกผลในอนาคต นอกจากนี้ยังมีเรื่องหนังสือดีๆ และอาหารการกินที่ไม่ควรจะประหยัดเกินไป แต่ถ้าของอย่างอื่นที่จำเป็นจริงๆ ก็ต้องซื้อ เช่น ล่าสุดเพิ่งซื้อมือถือ BlackBerry ให้ลูกไปเพราะอีกหน่อยไปเรียนเมืองนอกจะใช้คุยกับคนที่เมืองไทยได้
ส่วนเรื่องของ “มรดก” ดร.นิเวศน์ เปิดเผยว่า น้องแจนเพิ่งจะรู้ไม่นานเองว่าพ่อมีพอร์ตหุ้นระดับ (เกิน) “พันล้านบาท” แล้วเขารู้จากเพื่อน ที่จริงไม่คิดที่จะปกปิดมีแผนที่จะค่อยๆ สอนเรื่องหุ้นให้กับลูกอยู่แล้ว แต่ขอแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเด็กรุ่นใหม่อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องหุ้น อาจจะตีความหมายผิดไปได้ว่าพ่อเป็น “คนรวย” (ไม่เห็นต้องดิ้นรน) ไม่อยากให้ลูกคิดแบบนี้
“อีกไม่นาน เขาจะต้องเป็นผู้รับช่วงต่อพอร์ตหุ้นของผมทั้งหมดไปอย่างแน่นอน จากนี้ไปเป็นงานของผมที่ต้องค่อยๆ อธิบายแนวคิดการลงทุนให้เขารู้ ไม่ว่าในอนาคตเขาจะทำงานประจำ หรือแต่งงานออกไปเป็นแม่บ้านอย่างเดียว”
ในฐานะพ่อที่ทะนุถนอมพอร์ตหุ้นจนเติบใหญ่ เลี้ยงมาไม่ต่างจากลูกรักอีกคน ดร.นิเวศน์ยังจะประคับประคอง ขอให้เป็นการตัดสินใจร่วมกันว่าควรจะขายหุ้นออก ไปเมื่อไร คงไม่ให้ลูกตัดสินใจเพียงลำพัง แม้พ่อจะหาสมบัติไว้เป็นมรดกให้ลูกมากมายนับพันล้านบาท แต่พ่อคนนี้ก็ย้ำสอนกับลูกสาวคนเดียวของเขาว่า…
“ลูกไม่จำเป็นต้องมี(หา)สามีรวยเพื่อให้ทัดเทียมกับเรา แต่ขอให้เลือกคนที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุขเป็นอันดับแรก แม้เขาจะจนกว่าเรา ขอให้มีความขยันอยู่ในตัวก็พอ” นัยหนึ่งพ่อต้องการสอน…ลูกต้องเป็น “นาย” ของเงิน อย่าเป็น “ทาส” ของเงิน มองคนที่ “คุณค่า” ไม่ใช่มองคนที่ “ราคา” เช่นเดียวกับหุ้นที่พ่อซื้อ
ด้านคุณพ่อลูก(ชาย)สอง ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร แม้จะมีฐานะค่อนข้างมั่นคงมาตั้งแต่ลูกยังเล็ก มีรายได้จากค่าที่ปรึกษากฎหมายภาษีเป็นรายนาที แต่มักสอนให้ลูกใช้เงินอย่างประหยัด “จ่าย” ให้น้อยกว่า “รับ” เป็นวิธีเดียวที่จะเก็บความมั่งคั่งเอาไว้ได้
ดร.สุวรรณ เคยเล่าว่าได้ตกลงกับภรรยาตั้งกองทุนให้ลูกทั้ง 2 คนๆ ละ 10 ล้านบาท เพื่อเป็นทางเลือกว่าจะใช้สำหรับการไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือจะใช้เป็นทุนสำหรับเริ่มต้นชีวิต และสิ่งที่ครอบครัวนี้เลือกก็คือเก็บเงิน 10 ล้านบาท เป็นเงินก้นถุงของลูกแต่ละคน
“ถ้าส่งลูกไปเรียนที่อังกฤษเสียค่าใช้จ่ายปีละ 1.6 ล้านบาท ส่งไปเรียนอเมริกาเสียปีละ 1.2 ล้านบาท ออสเตรเลียปีละ 8 แสนบาท นิวซีแลนด์ปีละ 6 แสนบาท ถ้าเราส่งพวกเขาไปเรียน 10 ปี ก็ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่าคนละ 10 ล้านบาท เราจึงตกลงกันว่าจะเก็บเงินส่วนนี้ให้พวกเขา”
เหตุผล 3 ข้อของการไม่ส่งลูกไปเรียนเมืองนอกของครอบครัววลัยเสถียร หนึ่ง. ลูกโตขึ้นโดยที่เราไม่ได้ดูแล ไม่ได้อบรมบ่มนิสัยตั้งแต่เด็ก สอง. เรียนเมืองนอกเสียค่าใช้จ่ายมาก เงินส่วนนี้ควรเก็บเอาไว้ให้ลูกๆ ได้ตั้งตัว และสาม. ลูกกลับมาจะกลายเป็นคนที่ไม่มีเพื่อน ไม่มีรุ่น
ในช่วงวัยเรียน (วัยรุ่น) ขณะปิดภาคการศึกษา ดร.สุวรรณได้ส่งลูกชายไปฝึกงานเป็นพนักงานรับจองตั๋วที่โรงหนัง EGV เป็นการฝึกให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ตัดโอกาสเที่ยวเตร่ รู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่งาน รู้คุณค่าและความยากลำบากของการหาเงิน และรู้รสชาติของการเป็นลูกจ้าง
ช่วงปิดภาคเรียนถัดๆ มา ได้ส่งลูกชายไปฝึกงานในแผนกบริการของอู่ซ่อมรถยนต์แห่งหนึ่ง เพราะลูกชายเป็นคนชอบรถยนต์ ประสบการณ์ที่ได้คือความอดทนต่อการถูกตำหนิของลูกค้า รู้จักแก้ปัญหาในสถานการณ์คับขัน เหล่านี้เป็นมหาวิทยาลัยชีวิตที่เป็น “วิชาเสริม” ให้ลูกได้ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง
ประธานชมรมคนออมเงิน ในฐานะนักกฎหมายภาษีชั้นเซียน ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีแต่บุตรสาว และต้องการรักษาทรัพย์สินในรูปแบบ อสังหาริมทรัพย์ไม่ให้ผู้ที่จะมาเป็น “ลูกเขย” ในอนาคตนำไปขาย ให้ใช้วิธี “จดสิทธิเก็บกิน” หรือผู้ทรงสิทธิอาศัยในชื่อพ่อแม่ แทนที่จะใช้วิธีโอนที่ดินให้ลูกโดยตรง นอกจากมีค่าใช้จ่ายถูกเพียงแค่หลักร้อยบาทแล้ว ผลประโยชน์ในสินทรัพย์ยังตก อยู่กับผู้ทรงสิทธิคือพ่อแม่ไม่ตกกับเจ้าของ แต่พอเราเสียชีวิตอสังหาริมทรัพย์นั่นก็ยังเป็นมรดกตกทอดให้ลูกๆ อยู่ดี
“ผมจะพูดกับลูกเสมอว่าเรียนไม่เก่งไม่เป็นไร แต่ขอให้เรียนจบขั้นต่ำต้อง ปริญญาตรี และสำคัญมากห้ามไปเซ็นค้ำประกันให้กับใคร แม้ส่วนตัวจะเป็นที่ปรึกษาภาษีให้เศรษฐีหลายคน แต่ก็สอนลูกๆ ทุกคนว่าโตขึ้นต้องไม่เลี่ยงภาษี”
สำหรับแผนการถ่ายโอนมรดกให้ลูกจะไม่นิยมเก็บในรูปของเงินสด แต่นิยมซื้อที่ดินเก็บไว้ ปัจจุบันมีที่ดินแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นบ้านพักในปัจจุบันอยู่ที่สุขุมวิทซอย 8 (ซอยปรีดา) พื้นที่ 100 ตารางวา ที่เตรียมจะส่งต่อให้กับลูก ส่วนตัวคิดต่างจาก ดร.นิเวศน์ตรงที่ ถ้ามีเงินมากพอก็ควรจะ “ซื้อความสุข” ให้กับชีวิต อย่างบ้านก็จะทำใหญ่ๆ เพราะชอบอยู่สบายกว่าหลังเล็ก
นอกจากนี้ ยังชอบเก็บ “ทองคำ” ในระยะยาวมีความมั่นคงสูงและให้ผลตอบแทนดีกว่าพันธบัตรรัฐบาล เห็นได้ว่า 10 ปีย้อนหลังทองคำให้ผลตอบแทน 10% ทุกปี นอกจากนี้ยังลงทุนหุ้น TISCO ในชื่อลูกชาย ชาลี วลัยเสถียร ถืออยู่ 3,937,220 หุ้น สัดส่วน 0.54% (ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 115 ล้านบาท) รอรับเงินปันผลปีละ 2 บาทต่อหุ้น แค่นี้ก็พอใช้ทั้งปีแล้ว
จากการตรวจสอบของกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ยังพบว่า ดร.สุวรรณ ลงทุนหุ้น S&P ในชื่อชาลี 786,900 หุ้น ราคาตลาดเกือบ 32 ล้านบาท ลงทุนหุ้น TNDT ในชื่อ ดวงใจ วลัยเสถียร ภรรยา 600,000 หุ้น มูลค่า 3 ล้านบาท และลงทุนหุ้น SVI ในชื่อลูกชาย 10,087,284 หุ้น มูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท และเก็บหุ้น SVI ในนามส่วนตัวอีกเกือบ 5.58 ล้านหุ้น เป็นต้น
ดร.สุวรรณ บอกด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมาได้ซื้อหุ้น SVI จำนวน 4 ล้านหุ้น ราคาเฉลี่ย 2 บาท (ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริษัท) เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตสามารถส่งต่อให้ลูกหลานได้ เพราะบริษัทยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ส่วนแนวโน้มราคาทองคำ คาดว่าจะผันผวนสูงเพราะวิกฤติหนี้ที่ยุโรปยังไม่น่าไว้ วางใจ แต่สิ้นปีน่าจะได้เห็นที่ระดับ 1,350 ดอลลาร์ต่ออออนซ์ ครึ่งปีหลังหุ้นกับอสังหาริมทรัพย์ยังน่าลงทุนกว่าพันธบัตร
คนสุดท้ายนักลงทุนหุ้นคุณค่าพอร์ตระดับร้อยล้านบาท นพ.บำรุง ศรีงาน ประธานชมรมไทยวีไอ บอกว่า เงินเป็นทาสที่ดีของเรา แต่เป็นนายที่แย่ เท่ากับว่าเงินเป็นดาบสองคมมีทั้งคุณและโทษ ก่อนจะใช้ต้องระวังไว้เสมอ ปัจจุบันคุณหมอมีลูก 3 คนยังเล็กอยู่จะใช้วิธีสอนเรื่องเงินสามขั้นตอนคือ หนึ่ง ให้รู้จักว่าเงินสำคัญอย่างไร สอง สอนวิธีการหาเงิน และ สาม สอนวิธีการใช้เงิน ถ้าปลูกฝังแนวคิดนี้ลูกๆ จะเห็นว่าเงินหายากก็จะใช้ยากด้วย
ถ้าลูกๆ อยากจะได้สิ่งของอะไร จะต้องมีผลงานมาโชว์ด้วยเช่น ผลการสอบ เวลาที่จะซื้อของอะไรก็ตามจะสอนลูกด้วยว่าสิ่งที่ต้องจ่ายมากขึ้น “คุ้มค่า” หรือไม่ อย่างทุกวันนี้ยังขับรถโตโยต้า คัมรี่ และไม่มีการแต่งรถเลย เพราะมองว่าออปชั่นต่างๆ ที่ต้องซื้อเพิ่มมันแพงเกินควร
ตอนนี้ลูกๆ ทั้งสามของคุณหมอยังเล็กอยู่ แต่อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์ เตรียมแผนการปลูกฝังเรื่องการลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือแวลูอินเวสเตอร์ให้ลูกๆ แล้ว คิดว่าจะเริ่มหลังจากมีวุฒิภาวะทางอารมณ์มากขึ้น อาจจะหลังจบปริญญาตรีสัก 2-3 ปี
แต่ก่อนจะถึงตอนนั้น คุณหมอวางแผนจะลงทุนหุ้นให้กับลูก เพื่อรับประกันความมั่งคั่งในอนาคต ทำไมต้องเป็นหุ้น? เขาบอกว่าหุ้นเป็นสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญพอสมควร และยิ่งลงทุนนานจะให้ผลตอบแทนดีกว่าอย่างอื่น จะให้ลงทุนทองคำก็ไม่ค่อยมีความรู้มากนัก
ส่วนตัวมองว่าการวิเคราะห์หุ้นมันลึกกว่าทองคำที่มีปัจจัยแค่ดี มานด์-ซัพพลาย แต่หุ้นต้องคำนึงถึงผู้บริหารด้วย เหมือนอย่างที่เข้าซื้อหุ้น SAT ตั้งแต่ราคา 5-6 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ 20 บาท นอกจากเห็นว่าตลาดรถยนต์ของไทยจะโตแล้ว ยังเชื่อว่าผู้บริหารมีความสามารถ ด้วย ก่อนจะมากำไรหุ้น SAT คุณหมอก็กำไรหุ้น STPI มาก่อน “หลายเท่าตัว” รวมถึงหุ้น STANLY ด้วย
Source: Bizweek