Weerapong_thum

วีไอ SLOW LIFE /วีระพงษ์ ธัม

ในช่วงที่ผ่านมาวิถีชีวิตที่กำลังเป็นกระแสใน Social Media คือเรื่องราวชีวิต Slow Life ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่แสวงหา “ความช้า” ในสังคมคนเมืองที่เร่งรีบ เทคโนโลยีใหม่ ๆ อำนวยความสะดวก ช่วยให้มนุษย์แข่งกับเวลาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เราวิ่งแข่งกับเวลา เพราะเชื่อว่ามันเป็นเงินเป็นทอง และดูเหมือนกับว่าโลกการลงทุนยุคนี้ก็เร่งรีบเช่นเดียวกัน มีข่าวสารมากมายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ไหลผ่านช่องทางที่หลากหลาย ผมเคยลองนับข้อความทาง LINE และ E-mail ไม่รวมเวปบอร์ด Facebook ที่เกี่ยวกับหุ้นในหนึ่งวัน มีร่วมพัน ๆ ข้อความทีเดียว ท่ามกลางการลงทุนปีนี้ที่มีแต่ “ข่าวร้าย” มาลองดูว่าแนวคิด วีไอ SLOW LIFE จะเหมาะกับการลงทุนในยุคนี้หรือไม่

ต้นเหตุที่การลงทุนในยุคนี้รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมาช่วยงานมนุษย์ด้านการลงทุนไม่แพ้ด้านอื่น ๆ ของชีวิต ในการลงทุนแบบเทคนิคอลเราสามารถตีกราฟที่ซับซ้อน ด้วยการใส่ตัวแปรต่าง ๆ มากมายเพียงแค่คลิ้กเดียว ต่างจากยุคที่เซียนหุ้นเทคนิคอลในอดีตที่ค่อย ๆ วาดกราฟลงบนกระดาษเอง ในวิถีวีไอ ข้อมูลอัตราส่วนทางการเงิน ก็มีให้ใช้โดยที่เราไม่ต้องกดเครื่องคิดเลขเองเหมือนแต่ก่อน เมื่อซัก 5-10 ปีที่แล้ว เวลาที่งบออก วีไอจะมีช่วงให้ค่อย ๆ แกะงบ เพื่อค้นหามูลค่าที่ซ่อนอยู่ในงบเหล่านั้น มีโอกาสและเวลาซื้อหุ้นกว่าราคาจะค่อย ๆ ปรับขึ้น มายุคสมัยนี้ งบยังไม่ทันออก หรือออกแค่วันเดียว ราคาหุ้นก็ตอบสนองไปเรียบร้อย เรียกได้ว่า นาฬิกาหุ้นในยุคนี้เร็วกว่าเดิมมาก

สำหรับผมแล้ว การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการอยู่รอดในตลาดหุ้น ถ้าดูผิวเผินเหมือนกับว่าถ้าเราทำอะไร “เร็วขึ้น” น่าจะสามารถรักษาผลตอบแทนในการลงทุนที่ดีไว้ได้ แต่ผมกลับคิดว่าการทำอะไร “ช้ากว่าเดิม” กลับเหมาะสมกว่า ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้

ข้อแรกคือ ถ้าเราย้อนกลับไปในความหมายของการลงทุน คือ “การคาดหวังผลตอบแทนที่เหมาะสม ด้วยการจำกัดความเสี่ยง” การที่เรา “พยายาม” เพื่อให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ส่วนมากแล้วมักจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงไปในทางเก็งกำไรมากกว่า เช่นการฉวยโอกาสซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้น เพื่อเอากำไรจากการเล่นรอบ หรือหาโอกาสที่หุ้นจะตอบสนองกับข่าวดีหรือผลประกอบการที่ดีชั่วคราว โดยคาดหวังแรงเก็งกำไรจากผู้อื่นมาผสมโรงด้วย โลกธุรกิจช้ากว่าตลาดหุ้น ดังนั้นถ้าเราลงทุนเหมือนทำธุรกิจ เราก็ควรลงทุนช้า ๆ เช่นเดียวกัน

ข้อสอง ผลการวิจัยของ Vanguard พบว่า ข่าวสารจำนวนมากในตลาดหุ้นเป็นข้อมูลที่ “ไม่จำเป็น” หรือแทบไม่มีผลกระทบในระยะยาวต่อราคาหุ้นที่เราถืออยู่เลย ปัจจุบันเราพูดถึงการวิเคราะห์วิกฤตกรีซ แต่อันที่จริง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็มีปัญหาอื่น ๆ อีกเช่นโปรตุเกส สเปน ดูไบ จีน ญี่ปุ่น รวมไปถึงปัญหาเศรษฐกิจมหภาคในประเทศที่มากมายในแต่ละวัน เราเป็นนักลงทุนไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นถ้าเราอ่านข้อมูลเหล่านี้โดยที่แทบจะไม่มีผลในการลงทุนระยะยาว เราต้องใช้เวลาจำนวนมาก โดยที่ได้ผลลัพท์ที่น้อยมาก

ข้อสาม วิถีชีวิตนี้ Slow Life ทำให้เรามีเวลา “จดจ่อกับสิ่งที่สำคัญ” หนังสือหลาย ๆ เล่มรวมถึงบัฟเฟตต์พูดถึงความสำคัญของการจดจ่อ ผมคิดว่ากิจกรรมลงทุนแบบวีไอเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่ง “ความพยายาม” กับ “ผลลัพท์” จะสัมพันธ์กันน้อยลงถ้าเราเลือกทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การจดจ่อในกิจกรรมที่ถูกต้อง และยืนอยู่บนนิสัยที่ถูกต้องต่างหากที่ช่วยให้เรามีผลตอบแทนที่ดีขึ้น

ข้อสี่ การ “เล่นหุ้น” ในมุมมองคนรุ่นใหม่ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นวิถีชีวิตแบบ Slow Life คือจิบกาแฟ นั่งเทรดหุ้นตามห้าง แต่อันที่จริงชีวิตใน Streaming ของคนส่วนมากกลับ “Super Fast Life” เสียมากกว่า การทำอะไรช้า ๆ เราจะมีโอกาสเป็นอิสระจากฝูงชนได้ง่ายกว่า และมองเห็น “โอกาส” ในภาพใหญ่ง่ายกว่า แทนที่จะต้องวิ่งเข้าไปเก็บเหรียญหน้ารถสิบล้อ ซึ่งส่งผลต่อความเครียดและความสามารถในการควบคุมอารมณ์ การซื้อหุ้นและอดทนรอคอยแบบ Slow Life เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าที่สุดในการได้ผลตอบแทนที่เปลี่ยนชีวิตได้

ข้อห้า การ Slow Life ในตลาดหุ้น จะทำให้คุณมีชีวิตที่สมบูรณ์ขึ้นนอกตลาดหุ้น ทั้งชีวิตในการทำงาน ครอบครัว การมีเวลาทำกิจกรรมที่เราชอบ หรือมีประโยชน์ต่อสังคม เวลาทุกวินาทีมีความหมายเสมอกันหมด เวลาไม่ใช่ของฟรี แต่เป็นต้นทุนราคาแพงที่สุด และดูเหมือนกับที่กูรูว่า ยิ่งคุณขยับตัวน้อยลง ผลตอบแทนในตลาดหุ้นคุณจะมากขึ้น อย่าเอาราคาหุ้นรายวันมาวัดผลความสำเร็จ แต่วีไอ SLOW LIFE ควรจะเอาทุกมิติของชีวิตมาวัดว่า ชีวิตที่เกิดมา มีคุณค่า อย่างที่วีไอมุ่งแสวงหาหรือไม่ ถ้าเราทำหน้าที่อย่างถูกต้อง วิกฤตไหนเราก็ไม่ต้องไปกังวลเหมือนที่ตลาดกังวลครับ