หากท่านเป็นลูกจ้างที่มีรายได้ประจำหรือทำงานโดยมีนายจ้าง คงคุ้นเคยกับระบบประกันสังคมเป็นอย่างดี เพราะมีหน้าที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า หากท่านได้สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง หรือความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงอันเป็นผลมาจากการถูกเลิกจ้าง หรือลาออกจากงาน ความคุ้มครองหรือสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมยังมิได้สิ้นสุดลงทันที รวมถึงท่านยังมีสิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐได้เช่นเดิม รายละเอียดจะขอกล่าวถึงในบทความฉบับนี้ค่ะ
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน
ผู้ที่ทำงานประจำซึ่งเป็นผู้ประกันตนโดยบังคับในระบบประกันสังคม หรือเรียกว่า ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงานจะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน โดยผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน และต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วันนับตั้งแต่เป็นผู้ว่างงาน และต้องไม่ใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจากกองทุนประกันสังคม สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน มีดังนี้
– กรณีถูกเลิกจ้าง : ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
– กรณีลาออกโดยสมัครใจหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอน : ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
หากผู้ว่างงานยื่นขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานเกินกว่า 1 ครั้งภายใน 1 ปีปฏิทิน จะมีสิทธิรับเงินทดแทนกรณีว่างงานรวมกันไม่เกิน 180 วัน
นอกจากนี้ ระยะเวลาว่างเว้นจากการทำงานในช่วง 6 เดือนนั้น ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะกลายเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 38 (ไม่ต้องส่งเงินสมทบแต่อย่างใด) ได้รับความคุ้มครองใน 4 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ และคลอดบุตร สำหรับค่าจ้างที่ใช้ในการคำนวณความคุ้มครองจะเท่ากับค่าจ้างที่ใช้คำนวณจำนวนสมทบที่ต้องจ่ายเมื่อครั้งยังเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยความคุ้มครองทั้ง 4 กรณีนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อพ้นระยะเวลา 6 เดือนนับจากวันที่ออกจากงาน หรือสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับเมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนต่อในระบบประกันสังคม
หากผู้ประกันตนที่ออกจากงานต้องการได้รับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมต่อไป สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 ได้ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยผู้ที่จะสมัครได้ต้องเคยส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม ทั้งนี้ ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับสิทธิประโยชน์ใน 6 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ
สำหรับอัตราเงินสมทบที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม เท่ากับร้อยละ 9 ของค่าจ้าง โดยกำหนดฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบเท่ากับ 4,800 บาทต่อเดือนเท่ากันทุกคน คิดเป็นจำนวนเงินสมทบที่ต้องนำส่งในแต่ละเดือนเท่ากับ 4,800 บาท x 9% = 432 บาท และภาครัฐจะร่วมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมด้วยอีกส่วนหนึ่งในอัตราร้อยละ 2.5 โดยเงินสมทบที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จ่ายนั้น จะแบ่งเป็นจ่ายสมทบกรณีเจ็บป่วย/ตาย/ทุพพลภาพ/คลอดบุตร 3% และกรณีสงเคราะห์บุตร/ชราภาพ 6% ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพจะได้รับเมื่อผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ โดยจำนวนเงินที่ได้รับขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ ซึ่งนับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ดังนี้
เงินบำนาญชราภาพ
กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง กรณีจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นทุก 12 เดือน
ตัวอย่าง คุณ A เคยทำงานเป็นลูกจ้างได้รับเงินเดือน 20,000 บาท โดยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 180 เดือน ต่อมาลาออกจากงาน และสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 60 เดือน เนื่องจากคุณ A จ่ายเงินสมทบรวม 240 เดือน เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน คุณ A จะได้รับเงินบำนาญรายเดือน เดือนละ 1,320 บาท คำนวณได้ดังนี้
ส่วนที่ 1 : 180 เดือนแรก เท่ากับ 4,800 บาท x 20% = 960 บาท
ส่วนที่ 2 : 60 เดือนหลัง เท่ากับ 4,800 บาท x 1.5% x 5 ปี = 360 บาท
รวมได้รับเงินบำนาญตลอดชีพ 960 + 360 = 1,320 บาทต่อเดือน
หมายเหตุ : ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเท่ากับ 4,800 บาทต่อเดือน
เงินบำเหน็จชราภาพ
ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพในกรณีที่จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน โดยจำนวนเงินที่ได้รับจะมาจาก 2 ส่วน คือ
1. ส่วนของการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
2. ส่วนของการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
ตัวอย่าง คุณ A เคยทำงานเป็นลูกจ้างได้รับเงินเดือน 20,000 บาท โดยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 120 เดือน คิดเป็นเงินสมทบกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ 900 บาทต่อเดือน (คุณ A จ่าย 450 บาทต่อเดือน และนายจ้างจ่าย 450 บาทต่อเดือน) ต่อมาคุณ A ลาออกจากงาน และสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 30 เดือน คิดเป็นเงินสมทบกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ 4,800 x 6% = 288 บาทต่อเดือน เนื่องจากคุณ A จ่ายเงินสมทบรวม 150 เดือน (น้อยกว่า 180 เดือน) เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน คุณ A จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ คำนวณได้ดังนี้
ส่วนที่ 1 : 120 เดือนแรก เท่ากับ 900 บาท x 120 เดือน = 108,000 บาท และผลประโยชน์ตอบแทนจากเงินสมทบ 120 เดือน
ส่วนที่ 2 : 30 เดือนหลัง เท่ากับ 288 บาท x 30 เดือน = 8,640 บาท และผลประโยชน์ตอบแทนจากเงินสมทบ 30 เดือน
สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบไม่ถึง 12 เดือน เมื่อลาออกจากงาน จะไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ แต่เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะยังมีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ เมื่อยังเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ไม่ได้รับในส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบ)
ตัวอย่าง คุณ A จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นเวลา 10 เดือน เดือนละ 750 บาท โดยเป็นการจ่ายเงินเข้ากรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ 3% หรือ 450 บาทต่อเดือน เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน จะได้เงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 450 บาท x 10 เดือน = 4,500 บาท
จะเห็นได้ว่า เงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมนั้นมิได้สูญเปล่า แม้กระทั่งในช่วงที่ว่างงานหรือสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน กองทุนประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานให้ และเปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนโดยบังคับตามมาตรา 33 สามารถกลับเข้ามาเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐเช่นเดิม รวมทั้งเมื่อถึงวัยเกษียณจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ทำให้อุ่นใจได้ว่าจะมีเงินออมไว้ใช้จ่ายในยามชร
โดย : นิชฌานี ฉันทศาสตร์
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย