สิ่งที่นักลงทุนจะต้องคิดและจัดการนั้น นอกจากการศึกษาหาข้อมูลและวิเคราะห์กิจการและตัวหุ้นแล้วก็คือ “อารมณ์และความรู้สึก” ของตัวเองเวลาลงทุน เพราะเรื่องนี้มีผลต่อความสำเร็จ อาจจะไม่น้อยไปกว่าความสามารถในการเลือกหุ้น ลองมาดูกันว่ามีอารมณ์ที่สำคัญอะไรบ้างที่เราจะต้อง “ควบคุมดูแล” หรือจัดการให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมเพื่อที่จะได้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ความโลภ นี่เป็นอารมณ์ที่สำคัญมากที่มักจะมีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างแรง สุภาษิตโบราณของไทยบอกว่า “โลภมากมักลาภหาย” แต่ในการลงทุนนั้น นอกจากลาภจะหายแล้ว เราก็อาจจะ “หมดตัว” ได้ด้วย ความโลภในเรื่องของการลงทุนนั้นก็คือ เราไม่ได้ต้องการเพียงผลตอบแทนที่ “เหมาะสม” จากการลงทุนซึ่งมักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เหมาะสมด้วย แต่เรา “โลภมาก” อยากได้ผลตอบแทนที่สูงลิ่วเกินกว่าที่ตัวกิจการหรือหุ้นจะให้ได้ ดังนั้นหลาย ๆ คนจึงใช้ “เครื่องมือขยายผล” ที่จะเพิ่มผลตอบแทน เช่น การเล่นหุ้นด้วยมาร์จินซึ่งก็คือการกู้เงินมาลงทุน หรือแทนที่จะลงทุนในหุ้นปกติก็ไปเล่นวอแร้นต์ของหุ้นที่มักมีราคาต่ำและราคาขึ้นลงบางทีเป็นหลายเท่าของหุ้นตัวแม่ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความเสี่ยงของการลงทุนเพิ่มขึ้นมาก และมีโอกาสที่เราจะ “หมดตัว” นั่นก็คือ ถ้าหุ้นตกหนักถึงจุดหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง เงินลงทุนของเราอาจจะกลายเป็นศูนย์ได้ ดังนั้น ถ้าไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนจริง ๆ แล้วละก็ เราก็อย่าไปโลภขนาดนั้น ถ้าหุ้นมันดีจริงเราก็กำไรดีมากอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไป “รีบรวย” เกินไป
ความโลภนั้น ยังทำให้เรา “ทุ่มซื้อหุ้น” ในยามที่ตลาดหุ้นร้อนแรงมากกว่าปกติเพราะเราเห็นว่าจะทำเงินได้มาก นี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดมานั่นก็คือ คนจำนวนมากนั้น ในช่วงที่ตลาดหุ้น “เหงา” พวกเขาก็มักจะลงทุนในหุ้นไม่มากนัก เงินส่วนใหญ่อาจจะถูกฝากไว้กับสถาบันการเงิน ต่อมาหุ้นคึกคักและราคาปรับตัวขึ้นพวกเขาก็เริ่มรู้สึกดี นักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในตลาดมากขึ้นและราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ จนทำให้หุ้นคึกคักถึง “ขีดสุด” ในระหว่างนั้น เม็ดเงินหรือพอร์ตการลงทุนในหุ้นของเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่เราก็ยังไม่พอใจ เราคิดว่าถ้าเรานำเงินมาลงทุนซื้อหุ้นเพิ่ม เราก็จะได้กำไรเพิ่มขึ้นไปอีก เราเริ่มขอเงินหรือขอยืมเงินพ่อแม่ คู่ครอง หรือนำเงินจากแหล่งอื่นที่พอจะหาได้เข้าลงทุนซื้อหุ้นเพิ่ม เราไม่คิด “ถอนเงิน” ที่ได้กำไรมาแล้วในช่วงที่หุ้นกำลังปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ เรานำเงินใหม่เข้าไปลงทุนทั้ง ๆ ที่หุ้นนั้นมีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ และถ้ามองในฐานะนักลงทุนระยะยาวแล้ว ราคาที่แพงหรือสูงขึ้นจะทำให้ผลตอบแทนในอนาคตของการลงทุนลดลง มันอาจจะไม่ใช่เวลาที่เราจะลงทุน มันคือความเสี่ยงที่จะทำให้เราเสียหายหนักได้และบ่อยครั้งมันก็เป็นอย่างนั้น
ความกลัว นี่เป็นอารมณ์ที่อยู่ตรงข้ามกับความโลภ เรากลัวการขาดทุนจากการลงทุนในหุ้น สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ เรากลัวการขาดทุน “หลังจากที่เราขาดทุนไปแล้ว” ทางตัวเลข ก่อนที่หุ้นจะตกและเราขาดทุนนั้น เราไม่ได้กลัวขาดทุน เพราะถ้าเรากลัวเราก็คงจะไม่ซื้อตั้งแต่แรก ตอนเราซื้อนั้น เราไม่กลัวว่าจะขาดทุน ตรงกันข้าม เราคิดว่าเราจะได้กำไรเราไม่ได้คิดถึงการขาดทุน พอหุ้นตกถึงจุดหนึ่งที่เรารู้สึก “เจ็บ” เช่น หุ้นตกไป 20% เราจะเริ่มรู้สึกกลัว กลัวว่ามันจะตกลงไปอีกและเราจะเสียหายหนัก ดังนั้น เราก็อาจจะตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้ง ๆ ที่กิจการของบริษัทอาจจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ราคาหุ้นผันผวนด้วยสาเหตุอะไรก็ไม่รู้แต่เราตัดสินใจขายด้วยอารมณ์ของความกลัว
ความกลัวตลาดหุ้นตกหนัก กลัววิกฤติตลาดหุ้น กลัวว่าเมื่อตลาดหุ้นตกหนักหุ้นทุกตัวก็จะตกลงมาตาม ดังนั้น เมื่อตลาดหุ้นตกลงมาแรง เราก็มักจะขายหุ้นทุกตัวที่ถืออยู่ทันทีเพราะเรากลัวว่าถ้าไม่รีบขายมันจะตกลงไปอีกในนาที ชั่วโมงหรือวันต่อ ๆ ไป ความกลัวในเรื่องของดัชนีตลาดนั้น ทำให้เราต้องซื้อขายหุ้นบ่อยมาก และทำให้เรากลายเป็นคน “เล่นดัชนี” โดยไม่รู้ตัว ไม่ใช่เป็นคนลงทุนในหุ้นเป็นรายตัวอย่างที่ควรจะเป็น ผลก็คือ เราไม่ได้กำไรอะไรเลยในระยะยาวเพราะค่าคอมมิชชั่นและส่วนต่างราคาซื้อ-ขายของหุ้นนั้น กินผลตอบแทนที่จะได้หมด
ถ้าเราจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จนั้น สิ่งสำคัญก็คือทำอย่างที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ บอก นั่นก็คือ “จงพยายามกลัวเมื่อคนอื่นกำลังกล้า และพยายามกล้าเมื่อคนอื่นกำลังกลัว” ดูว่าตนเองซื้อหุ้นน้อยลงไหมเวลาคนกำลังเล่นหุ้น ซื้อขายหุ้นในปริมาณที่มาก และเราเข้าไปซื้อหุ้นอย่างคึกคักเวลาคนอื่นชะลอหรือหยุดเล่นหุ้นกันแล้วหรือไม่ ถ้าใช่ก็แปลว่าเราเริ่มสามารถควบคุมตัวเองในด้านของความโลภและความกลัวได้ดีขึ้น
อารมณ์ดีใจ-เสียใจ เวลาหุ้นขึ้น-หุ้นตก นี่ก็เป็นความรู้สึกธรรมดาของนักลงทุน แต่คนที่มีประสบการณ์หรือระดับ EQ ในการลงทุนสูงก็จะสามารถควบคุมตนเองได้ดีกว่า นั่นก็คือ เวลากำไรก็จะไม่ดีใจจนเกินไป เช่นเดียวกัน เวลาขาดทุนก็จะไม่ “ฟูมฟาย” หรือเศร้าเสียใจมากนัก พวกเขาจะดูว่ามันมีเรื่องของความ “ผันผวน” อยู่ในราคาหุ้นอยู่มากโดยเฉพาะในช่วงเวลาสั้น ๆ ดังนั้น หุ้นขึ้นหรือหุ้นลงวันต่อวันหรือเดือนต่อเดือนนั้น อาจจะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าสิ่งที่เราคิดถูกต้อง ในระยะเวลาสั้น ๆ นั้น ราคาหุ้นอาจจะขึ้นหรือลงได้โดยที่ไม่ได้อิงอยู่กับผลประกอบการหรือความเข้มแข็งหรือความสามารถในการแข่งขันของบริษัทก็ได้ ไม่ต้องดีใจหรือเสียใจมากจนเกินไป รอดูไปจนถึงสิ้นปีแล้วค่อยประเมินดูว่าเราควรจะดีใจหรือเสียใจโดยดูว่าหุ้นขึ้นหรือหุ้นลงไปเท่าใด นอกจากนั้น เราก็ควรจะต้องประเมินด้วยว่าหุ้นที่ขึ้นหรือลงนั้นสอดคล้องกับตัวกิจการหรือบริษัทหรือไม่
ถ้าหุ้นขึ้นและบริษัทดีขึ้น นี่คือสิ่งที่เราควรจะยินดี ถ้าหุ้นขึ้นแต่ที่จริงบริษัทไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง เราก็ควรจะ “ดีใจ” ที่เรา “โชคดี” แต่ถ้าหุ้นลงและบริษัทก็แย่ลงแบบนี้เราก็ควรจะเสียใจที่เราคาดการณ์ผิด และในกรณีสุดท้าย ถ้าหุ้นตกลงมาแต่กิจการของบริษัทกลับดีขึ้น แบบนี้เราก็ไม่ควรที่จะเสียใจ เพราะไม่ช้าก็เร็วหุ้นก็น่าจะปรับตัวขึ้นได้ พูดโดยสรุปก็คือ หุ้นขึ้นลงในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น ไม่ต้องดีใจหรือเสียใจอะไรมากมายเพราะมันอาจจะเปลี่ยนไปได้อีกมากระหว่างที่ยังไม่ “สิ้นปี” หรือยาวพอ การ “วางเฉย” ต่ออารมณ์ดีใจหรือเสียใจนั้น จะช่วยให้เราไม่ตัดสินใจอะไรอย่างรวดเร็วและไม่รอบคอบ การตัดสินใจเวลาเราดีใจหรือเวลาเราเสียใจนั้น ผมคิดว่าจะทำให้เรามีความลำเอียงและอาจไม่เป็นเหตุเป็นผลที่ดี เช่น ทำให้เราซื้อหรือขายหุ้น “ผิดเวลา”
ความรู้สึกเหมือนถูก “ทรมาน” นั้น นักลงทุนก็มักจะพบเจออยู่บ่อย ๆ บางครั้งบางช่วงเวลานั้น ตลาดหุ้นขึ้นเอา ๆ แต่หุ้นที่เราถืออยู่กลับนิ่งหรือตกลงมาอีกต่างหาก เราได้แต่มองและรู้สึก “ทรมานใจ” จนในบางครั้งเราอาจจะตัดสินใจขายหุ้นทิ้งเพื่อที่จะไปซื้อหุ้นที่ดูเหมือนว่าจะวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะ ความ “อดทน” ของเราอาจจะมีจำกัด นี่ก็อาจจะเป็นเรื่องของจิตวิทยาที่เรียกว่า “สนามหญ้าของเพื่อนบ้านเขียวกว่าเสมอ” นักลงทุนที่ “ทนทรมาน” ได้น้อยก็จะมีแนวโน้มที่จะรอหุ้นให้ขึ้นตามพื้นฐานไม่ไหวและขายหุ้นเร็วเกินไปอยู่เรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน บางช่วงเวลา อาจจะเป็นปี ๆ ตลาดหุ้นเอาแต่ปรับตัวลงอยู่เรื่อย ๆ พอร์ตหุ้นที่เราถืออยู่โดยรวมก็ไม่ไปไหนหรือปรับตัวลดลงเป็นระยะ ๆ เรารู้สึก “ทรมานใจ” และถ้าทนไม่ไหว เราก็อาจจะตัดสินใจทำอะไรที่ไม่เหมาะสม เช่น ขายหุ้นที่ดีมีคุณค่าทิ้ง เป็นต้น
ความรู้สึก “กังวล” นอนไม่หลับ กลัวว่าบางสิ่งบางอย่างจะเกิดขึ้นแล้วกระทบกับการลงทุนของเราอย่างแรง เช่นกลัวว่าตลาดหุ้นจะเกิดวิกฤติหรือกลัวว่าหุ้นที่เราถืออยู่นั้นอาจจะถูกผลกระทบที่รุนแรงที่เรา “กลัว” อยู่ นี่ทำให้เรากังวลทั้ง ๆ ที่โอกาสจะเกิดขึ้นอาจจะน้อย ในกรณีแบบนี้เราก็ต้องพิจารณาวิเคราะห์ “Scenario” หรือภาพที่อาจจะเกิดขึ้นหลาย ๆ ภาพแล้วดูว่าผลจะเป็นอย่างไรโดยเฉพาะในกรณีที่เกิดภาพเลวร้ายที่สุด เสร็จแล้วก็ตัดสินใจทำสิ่งที่จะช่วยลดความกังวลนั้นให้เหลือน้อยลงจนยอมรับได้ หลังจากนั้นก็ “เลิกกังวล” เพราะเราจะไม่มีวัน “เจ๊ง” จากการลงทุนอย่างแน่นอนถ้าเราวิเคราะห์ “ความเสี่ยง” อย่างดีแล้ว