ก่อนรุ่งสาง ณ ดินแดนอันห่างไกลแห่งหนึ่ง เด็กน้อยคนหนึ่ง รีบลุกจากที่นอน วิ่งฝ่าความมืดขึ้นไปบนภูเขาดำทมึนซึ่งตั้งอยู่หลังหมู่บ้าน เด็กน้อยใช้เวลาพอสมควรในการขึ้นสู่ยอดเขา ครั้นได้ที่มั่นในการยืนเรียบร้อยแล้ว ก็ยกมือขึ้น หมุนเป็นวงกลมสามรอบ หลังจากรอไม่นาน ท้องฟ้าเริ่มมีแสงแรก พระอาทิตย์ดวงกลมใหญ่ ค่อยๆ ลอยขึ้นไปในท้องฟ้า…
เด็กน้อยเพียรทำอย่างนี้ทุกเช้าเพราะเชื่อว่าการกวาดแขนเป็นวงกลมสามรอบนั้นเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งแสงสว่าง เด็กน้อยคนนั้นไม่เคยเฉลียวใจเลยว่าตนเองคิดผิด จนกระทั้งวันหนึ่งเธอล้มป่วยลง เช้านี้เธอไม่สามารถออกมาวาดแขนเป็นวงกลมได้เหมือนเดิม แต่เธอกลับพบว่า พระอาทิตย์ดวงเดิมก็ยังคงส่องแสงสว่างไสวอยู่อย่างนั้น
อาจารย์ปริญญาโทของผมท่านหนึ่ง ท่านเคยสอนเรื่อง “การให้เหตุผลที่ผิด” และหนึ่งในตัวอย่าง ที่ท่านยกมานั้น กล่าวเป็นภาษาละตินว่า “Post Hoc Ergo Propter Hoc” แปลเป็นใจความได้ว่า “หลังจากเหตุการณ์นั้น เหตุการณ์นั้นจึงเป็นต้นเหตุ” ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว เหตุการณ์ทั้งสองอย่างนั้น อาจไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันแต่อย่างใด แต่ว่าคนเราจับสองเหตุการณ์นั้นมาประติดประต่อกันเอาเองว่า…ตัวอย่างเช่น..ฉันวาดมือสามครั้ง หลังจากนั้น พระอาทิตย์จึงขึ้น จริงๆแล้ว พระอาทิตย์เขาก็ขึ้นของเขาอยู่อย่างนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับว่ามีใครมาวาดแขนหรือไม่
ในโลกของการลงทุนนั้น ผมเองได้เห็น “การให้เหตุผลที่ผิด” ของตัวเองมากมายในอดีต มีอยู่บางครั้ง ที่ผมซื้อหุ้นแล้วหุ้นขึ้น ผมก็เชื่อว่าผมวิเคราะห์มาดีแล้ว ผมเก่ง ซื้อเสร็จไม่นานหุ้นก็ขึ้นอย่างมาก ยิ่งขึ้นผมก็ยิ่งมั่นใจในความเก่งของผม ผมคิดว่ามาถูกทางแล้ว เก่งแล้ว อ่านขาด ยิ่งราคาขึ้นไปสูงขึ้นไป ผมก็คิดว่าหุ้นตัวนี้ต้องเป็นหุ้นคุณค่า เหมาะแก่การถือยาวเป็นสิบๆปีแน่ๆเลย แต่พอผ่านมาระยะหนึ่ง บริษัทนี้ประกาศผลประกอบการซึ่งผิดความคาดหมายของผมอย่างมาก ราคาหุ้นลดลงอย่างรวดเร็ว ความเชื่อในอดีตของผมหายไป ในตอนนั้น ผมไม่เก่งแล้ว หุ้นนี้ไม่ควรถือยาว ความมั่นใจหลายๆ อย่างหายไปหมดแล้ว
ปัจจุบันผมไม่ค่อยรู้สึกว่าผมมีฝีมือในการลงทุนอะไรมากมาย กลับคิดว่าผมเองเหมือนชาวประมง โตมาถึงป่านนี้ผมยังไม่เคยได้ยินว่ามีแชมป์ชาวประมงโลกที่ไหน นั่นอาจเป็นเพราะว่า อาชีพชาวประมงนั้น การจะได้ปลามากหรือน้อยนั้น มันขึ้นกับเหตุปัจจัยหลายๆอย่าง ต่อให้เป็นชาวประมงที่มีฝีมือขนาดไหน ฟ้า ลม ไม่เป็นใจ ก็ใช่ว่าจะจับปลาได้ ดังนั้นความสำเร็จของชาวประมงนั้นขึ้นกับหลายเหตุปัจจัยมาสอดคล้องกัน วันไหนที่เขาจับปลาได้มาก เขาคงไม่กล้าเอาเครดิตไว้คนเดียวว่า “ข้าเก่ง” ผมเชื่อว่าชาวประมงที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก เขาเหล่านั้นจะรู้จักเคารพ ทะเล ลม เรือ แห และ ฝูงปลา ที่ทำให้เขาสามารถยังชีพอยู่ได้ หาปลาไปด้วยความเคารพในสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน
ธรรมดาคนเรานั้นมักเชื่อว่าเราสามารถควบคุมสิ่งต่างๆได้ เชื่อเสมอว่าที่เป็นได้แบบนี้นั้น “เป็นเพราะเรา” “เราเป็นคนทำ” บันดาลให้เกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า เรานั้นกำลังทำในสิ่งที่ว่า…. “การให้เหตุผลที่ผิด” อยู่ เพราะถ้าเราลองสังเกตุตัวเราให้ดี อย่าว่าแต่ไปบังคับสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นเลย ผมบนหัวของเราเอง เวลาร่วง ยังไม่เคยขออนุญาติเรา เราเองตั้งแต่ตื่นนอนมา ตลอดวัน เคยลงมือย่อยอาหารเองไหม เคยฟอกเลือดไหม ผมเองอยู่กับร่างกายนี้มาหลายปีแล้ว ยังไม่รู้เรื่องเลยว่าเขาทำงานกันอย่างไร แต่ร่างกายนี้ยังคงทำงานของเขาเป็นทีม คล้องจองกัน อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันโดยไม่เคยรับ “เครดิต” อะไรจากใครเลย
ผมเขียนบทความนี้ด้วยความรู้สึกขอบคุณเพื่อนสมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า ที่มีน้ำใจ แบ่งปันข้อมูลและความรู้ให้แก่กันตลอดมา เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ผมสามารถดำรงอาชีพ
ชาวประมงหาหุ้น เลี้ยงตัวอยู่ได้ วันนี้ (15 มกราคม 2557) เป็นวันที่ผมเป็นสมาชิก thaivi มาครบ 10 ปีพอดี เลยขอฝากข้อผิดพลาดของผมผ่านบทความนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ และ เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจของเพื่อนๆ ทุกๆ ท่านบ้าง ขอบคุณครับ
เครดิต: คนขายของ @ThaiVI