กลยุทธ์หุ้น

กลยุทธ์หุ้น
by Narin Olankijanan
Posted on February 22, 2012

เมื่อเดือนที่แล้ว ผมไปเป็นวิทยากรที่ห้องสมุดมารวย ชั้นล่างของอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องเกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นมาครับ ที่นี่มีการจัดสัมมนาอย่างสม่ำเสมอและส่วนใหญ่ก็เป็นงานที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าฟังได้ฟรีด้วย ใครที่สนใจเรื่องการออมและการลงทุนน่าจะหาโอกาสไปเพิ่มพูนความรู้กันนะครับ

จำได้ว่าผมไม่ได้เขียนเรื่องหุ้นในคอลัมน์นี้เท่าไร เลยอยากจะขอเขียนสรุปแนวคิดหลักของการสัมมนาในวันนั้นไว้ ณ ที่นี้ด้วย แนวคิดส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจาก ปีเตอร์ ลินซ์ กูรูหุ้นคนสำคัญครับ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่า ตลาดหุ้นคือ ทางเลือกในการออมที่เหมาะสำหรับทุกคน เพราะแม้ตลาดหุ้นจะผันผวนสูงมากในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วหุ้นก็ยังเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า และสูงกว่าสินทรัพย์อย่างอื่นมาก ดังนั้นแม้แต่คนที่รับความเสี่ยงได้น้อย ก็ควรแบ่งเงินบางส่วนออมไว้ในหุ้นบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคดอกเบี้ยตกต่ำถาวรอย่างเช่นในปัจจุบัน

วิธีออมเงินไว้ในหุ้นที่ง่ายและดีที่สุดคือ การเลือกลงทุนในหุ้นของธุรกิจชั้นดีเท่านั้น และลงทุนอย่างน้อย 4-5 ตัว แล้วพยายามถือหุ้นแต่ละตัวเอาไว้ให้ได้นานๆ นี่คือวิธีเดียวกับที่ ปีเตอร์ ลินซ์ กูรูหุ้นคนสำคัญแนะนำไว้ในหนังสือของเขาว่าเป็นวิธีที่เหมาะกับคนธรรมดาทั่วไปมากที่สุด

หัวใจสำคัญของวิธีนี้อยู่ตรงที่การบอกตัวเองว่า จะพยายามซื้อขายหุ้นให้น้อยครั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะที่จริงแล้ว เรื่องที่ยากที่สุดของคนส่วนใหญ่ในการเล่นหุ้นคือ การควบคุมอารมณ์ของตัวเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นผันผวนอย่างหนัก การสัญญากับตัวเองว่าจะเทรดหุ้นให้น้อยครั้งที่สุด คือ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ให้อยู่เฉยๆ เอาไว้ก่อน เป็นการช่วยลดโอกาสที่เราจะตัดสินใจซื้อขายหุ้นไปตามอารมณ์ของเรา ซึ่งมีส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้เราลงทุนผิดพลาด

ครั้งแรกที่ผมได้อ่านวิธีการลงทุนนี้ในหนังสือของปีเตอร์ ลินซ์ ผมรู้สึกเฉยๆ มาก เกือบจะเรียกได้ว่าแทบจะอ่านผ่านไปเลย เพราะมันฟังดูง่ายเกินไป ช่างไม่มีความพิเศษเอาซะเลย แต่หลังจากที่ได้อยู่ในตลาดหุ้น นานขึ้น ได้เห็นพฤติกรรมที่แปลกๆ ของนักลงทุน รวมทั้งของตัวเองด้วย ผมก็ยิ่งรู้สึกว่า วิธีที่ปีเตอร์ ลินซ์ แนะนำเป็นเคล็ดลับที่ยอดเยี่ยมจริงๆ มันไม่น่าจะเกิดจากความคิดของเขาลอยๆ แต่เกิดมาจากการที่เขาผ่านร้อนผ่านหนาวในตลาดหุ้นมานานและได้เห็นอะไรมาเยอะมากแล้วจริงๆ

การทำนายล่วงหน้าว่าหุ้นตัวไหนจะเติบโตดีในอนาคตนั้น บางทีก็เป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับคนทั่วไป แต่ถ้าเราเน้นลงทุนแต่กิจการที่ค่อนข้างมั่นคงเอาไว้ก่อน โอกาสที่ราคาหุ้นเหล่านี้จะลดลงอย่างถาวร เพราะกิจการไปไม่รอดในระยะยาวจะมีน้อย ทำให้พอร์ตของเรามี Downside Risk จำกัด ส่วน Upside Gain นั้นเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้ และถือว่าเป็นของแถม ปีเตอร์ ลินซ์ บอกว่า ในหุ้นดีห้าตัวที่เราเลือกลงทุนนั้น แค่มีตัวใดตัวหนึ่งที่เติบโตได้ดีมาก ส่วนอีกสี่ตัวที่เหลือแค่ธรรมดาๆ ก็เพียงพอที่จะทำให้พอร์ตโดยรวมของเราเป็นพอร์ตที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดีได้แล้ว วิธีลงทุนที่เน้นจำกัด Downside แล้วปล่อยให้ Upside เป็นเรื่องที่ได้เป็นของแถม จึงเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสำหรับคนธรรมดาทั่วไปที่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องหุ้นครับ

การเทรดหุ้นบ่อยๆ ยังเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลตอบแทนของคนทั่วไปไม่ดี คนทั่วไปมักจะคิดว่าถ้าเราเทรดหุ้นบ่อยๆ จะทำกำไรได้สูงกว่า เพราะทำเงินได้หลายรอบ แต่โดยสถิตแล้ว คนทั่วไปทำผลงานได้แย่มากในการทายล่วงหน้าว่า ราคาหุ้นกำลังจะวิ่งไปทางไหน ดังนั้นพอร์ตของคนธรรมดาทั่วไปที่ค่อนข้างนิ่งจึงมักให้ตอบแทนที่ดีกว่าพอร์ตที่เคลื่อนไหวของตลอดเวลาโดยเฉลี่ย เพราะการไม่ได้ซื้อขายบ่อยๆ ทำให้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการเทรดหุ้นมีน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม วิธีลงทุนที่ค่อนข้าง Passive มักจะให้ผลตอบแทนต่อปีเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก แม้แต่คนอย่างวอเรน บัฟเฟต ก็ยังทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้เพียง 21% ต่อปีเท่านั้น แต่เขาอาศัยการลงทุนมานานทำให้พอร์ตโตขึ้นอย่างมหัศจรรย์ วิธีนี้จึงไม่อาจทำให้รวยเร็วๆ ได้ จึงเหมาะกับคนที่มีเป้าหมายเป็นการออม และสามารถรอคอยได้

แต่สำหรับคนที่เข้ามาในตลาดหุ้นโดยมีเป้าหมายที่จะ “เปลี่ยนชีวิต” ด้วยตลาดหุ้น เช่น จากคนที่ไม่รวยกลายมาเป็นคนที่ร่ำรวยได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีด้วยการเทรดหุ้นนั้น โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ แต่ต้องเข้าใจว่า คนทำสำเร็จจริงๆ นั้น มีอยู่ไม่มากนัก แต่การที่หุ้นเป็นแค่การซื้อๆ ขายๆ แล้วได้กำไร ทำให้เกิดภาพลวงตาว่าการ “รวยด้วยหุ้น” เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าวิธีการอย่างอื่น

ฉะนั้นคำแนะนำของผมสำหรับคนที่อยากรวยด้วยการเทรดหุ้นจริงๆ คุณต้องเอาจริงกับมันอย่างมากเท่านั้น ตามสถิติแล้ว คนที่เทรดหุ้นแล้วไม่ขาดทุนนั้นมีอยู่น้อยกว่าคนที่ขาดทุน ยิ่งถ้าเป็นสัดส่วนของคนที่ได้กำไรจากหุ้นมากเสียจนเปลี่ยนชีวิตได้เลยนั้น ยิ่งมีน้อยมาก การจะเป็นหนึ่งในคนจำนวนน้อยมากจึงไม่อาจหวังพึ่งแค่โชคช่วย หรือใช้วิธีการที่เหมือนๆ กับคนอื่นได้เลย คุณต้องมีอะไรบางอย่างที่โดดเด่นกว่าคนอื่นในเรื่องหุ้น

แต่ถ้าหากคุณไม่มี ผมแนะนำให้คุณตัดช่องน้อยแต่พอตัว แล้วหันมาเลือกวิธีแบบที่ค่อนข้าง Passive ยอมรอนานหน่อย คุณก็สามารถมีผลตอบแทนจากหุ้นที่ดีในระดับหนึ่งได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเก่งหรือทุ่มเทให้กับตลาดหุ้นมากๆ เลย

———————————-

หนังสือที่ นรินทร์ พูดถึง

เหนือกว่าวอลสตรีท หรือ ONE UP ON WALL STREET เขียนโดย Peter Lynch

Peter Lynch เป็นนักลงทุน ที่มีประสบการณ์มากที่สุดคนนึง

ในหนังสือ Peter Lynch พูดถึงการลงทุนไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการแบ่งหมวดหมู่ และคัดเลือกบริษัท ที่น่าสนใจ เพื่อลงทุน

มีหัวข้อนึง พูดถึงนักเรียนระดับประถมศึกษา ที่คัดเลือกหุ้น โดยไม่ดูตัวเลขการเงิน หรือข้อมูลเศรษฐกิจอะไรเลย เลือกแค่เพราะรู้จัก และสามารถวาดภาพธุรกิจนั้นๆ ได้ (เช่น บริษัทไนกี้ นักเรียนก็จะวาดภาพ รองเท้า เป็นต้น)

เวลาผ่านไป กลับมาดูผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนของนักเรียนระดับประถมศึกษา เทียบกับกองทุนชั้นนำ ที่มีผู้บริหารกองทุนระดับโลก กลับพบว่ามากกว่า 90% ของกองทุนเหล่านี้ แพ้พอร์ตลงทุนของนักเรียนระดับประถม แถมผลตอบแทนของนักเรียนกลุ่มนี้ ยังเอาชนะดัชนี S&P ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

http://www.se-ed.com/eshop/Products/Detail.aspx?No=9789749270882&AspxAutoDetectCookieSupport=1