กับดักของความโลภ / วิบูลย์ พึงประเสริฐ

สิ่งหนึ่งที่อยู่ในสัญชาตญานของมนุษย์คือความเสียใจ เราเสียใจเมื่อพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก เราเสียใจเมื่อผิดหวังหรือไม่ได้อะไรตามที่เราคาดหวัง เราเสียใจเมื่อถูกดุด่าว่าตี บางครั้งเราเสียใจจากการขาดทุนในการลงทุน มีการวิจัยพบว่าการขาดทุนนั้นมีมูลค่ามากกว่าการได้กำไร เช่น การซื้อหุ้นแล้วขาดทุน 1 แสนบาทนั้นจะทำให้เสียใจมากกว่าความสุขจากการได้กำไรจากหุ้น 1 แสนบาท แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือว่าบางครั้งเราขายหุ้นบริษัทหนึ่งที่ถืออยู่ไปทั้งหมดและทำกำไรได้แล้ว แต่ปรากฏว่าราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่เราขายไป เรากลับรู้สึกว่าขายเร็วเกินไปและมีความสุขลดลงทั้งๆที่การขายนั้นทำกำไรให้เราแล้ว เรียกว่าขาดทุนกำไรหรือภาษานักเลงหุ้นเรียกว่า”ขายหมู”

ความรู้สึกเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับการลงทุนในตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียว การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ก็ทำให้เกิดอารมณ์เสียใจเช่นนี้ได้ อย่างเราขายที่ดินที่ถืออยู่หนึ่งแปลงออกไปหรือขายคอนโดที่ซื้อมาในราคาที่ได้กำไรมากพอสมควร เรารู้สึกมีความสุขมากที่ทำกำไรได้ แต่พอเวลาผ่านไปไม่นานเราได้ยินมาว่าที่ดินข้างๆหรือคอนโดห้องข้างๆขายไปในราคาที่สูงกว่าเรามาก ปรากฏว่าความสุขที่ได้จากการทำกำไรกลายเป็นความเสียใจที่รู้สึกว่าขายที่ดินหรือคอนโดนั้นไปในราคาที่ต่ำเกินไป

ความเสียใจนั้นจะกลายมาเป็นความโลภ เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ถ้าได้กำไรจากการขายหุ้นไปแล้วมักจะทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น และคิดว่าคราวที่แล้วซื้อหุ้นน้อยไปหน่อย ถ้าซื้อหุ้นจำนวนมากๆก็ได้กำไรมากกว่านี้หลายเท่า คิดได้ดังนั้นจึงกลับไปเข้าไปซื้อหุ้นใหม่แบบมั่นใจสุดๆด้วยจำนวนเงินที่มากกว่าเดิม แต่สุดท้ายตลาดหุ้นในช่วงที่ได้กำไรง่ายๆนั้นมักเป็นช่วงปลายของตลาดกระทิงที่ร้อนแรง การเข้าซื้อหุ้นแบบมั่นใจในคราวนั้นกลายเป็นหายนะของการลงทุน บางครั้งกำไรที่ได้มากลับหายวับไปกับการซื้อหุ้นครั้งนั้น แถมอาจจะต้องขาดทุนมากขึ้นไปเสียอีก สถานการณ์เช่นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น”กับดักของความโลภ”

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ในอดีตเราจะเคยได้ยินเรื่องทำนองนี้มามาก ไม่ว่าจะเป็นในตลาดหุ้นไทยหรือต่างประเทศ อย่างประเทศไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เคยมีข่าวนักลงทุนนำปืนจะไปยิงตัวตายที่ตลาดหลักทรัพย์เพราะขาดทุนจากการซื้อขายอย่างมากในช่วงลอยตัวค่าเงินบาท ในอดีตหลายร้อยปีที่แล้ว ในปี ค.ศ. 1720 เซอร์ไอแซค นิวตัน ผู้ได้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะด้านการคำนวณของโลกและเป็นนักฟิสิกส์ที่ฉลาดที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น ถือหุ้นของบริษัทเซาส์ซี (South Sea Company) ซึ่งเป็นหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดในอังกฤษ นิวตันได้ตัดสินใจขายหุ้นบริษัทนี้ออกไปโดยได้กำไรถึง 100 เปอร์เซนต์รวมเป็นเงิน 7,000 ปอนด์ อย่างไรก็ตามในอีกไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อนิวตันถูกครอบงำโดยกับดักของความโลภและความบ้าคลั่งแบบสุดขั้วของตลาดหุ้น เขาเห็นคนอื่นๆที่ยังถือหุ้นอยู่มีกำไรมากขึ้นโดยที่เขาทำอะไรไม่ได้เพราะเขาขายหุ้นออกไปหมดแล้ว สุดท้ายเมื่อตลาดเข้าขั้นฟองสบู่ คนถือหุ้นบริษัทนี้ร่ำรวยกันถ้วนหน้า นิวตันตัดสินใจกลับเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทเซาท์ซีอีกครั้งในระดับราคาที่สูงกว่าเดิม จากนั้นฟองสบู่หุ้นเซาส์ซีก็แตกเมื่อข่าวต่างๆที่บริษัทออกมาบอกนั้นเป็นเรื่องโกหกแทบทั้งหมด ราคาหุ้นลดลงอย่างรวดเร็ว นิวตันคัตลอสไปในราคาที่ต่ำกว่าที่ซื้อมามากซึ่งเป็นผลให้เขาต้องขาดทุนมากกว่า 20,000 ปอนด์ (คิดเป็นเงินกว่า 3 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน) ตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ เขาจะห้ามไม่ให้ใครพูดว่า “เซาส์ซี” ให้เขาได้ยินเป็นอันขาด และถึงกับบอกว่า “ข้าพเจ้าสามารถคำนวณการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุในท้องฟ้า แต่ไม่สามารถพยากรณ์ความบ้าคลั่งของฝูงชนได้”

สำหรับนักลงทุนรายย่อยนั้น ถ้าจะไม่ให้ตกอยู่ภายใต้”กับดักของความโลภ”แล้วนั้นควรศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาการลงทุนให้มาก การทำกำไรจากตลาดหุ้นแต่เมื่อเห็นคนอื่นกำไรมากกว่ากลับรู้สึกเสียใจนั่นเป็นเพราะเราไม่สามารถจัดการกับสัญชาตญานของเราเองได้ นักลงทุนที่มีความสุขจากการลงทุนมักไม่เปรียบเทียบผลตอบแทนของตนเองกับผู้อื่นและมีความพอใจในสิ่งที่ตนได้รับรวมทั้งยินดีกับคนอื่นที่ทำกำไรได้มากกว่า ใครทำได้เช่นนี้ก็ไม่มีคำว่าต้องเสียใจเมื่อขายหมู