การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม

โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อุตสาหกรรมแต่ละอย่างมีการเปลี่ยนแปลงช้าเร็วไม่เท่ากัน บางอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่บางอย่างก็ช้ามาก การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนั้น มักจะมาจากการที่มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีหรือพฤติกรรมของคน หรือไม่ก็เกิดจากลักษณะหรือคุณสมบัติของกิจการที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมหรือภาวะเศรษฐกิจสูง ซึ่งทำให้ในบางช่วงเวลาบริษัทในอุตสาหกรรมประสบกับความล้มเหลวอย่างรุนแรงและกว้างขวางและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรม ผลของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมที่ชัดเจนก็คือ บริษัทที่เคยรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่นั้น กลายเป็นบริษัทที่ล้มเหลวตกต่ำลง ในขณะเดียวกัน บริษัทที่เคยเป็นรองหรือบริษัทขนาดเล็กเติบโตขึ้นกลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่แทนในระยะเวลาอันสั้น ลองมาดูกันว่าอุตสาหกรรมอะไรที่เปลี่ยนเร็ว และอุตสาหกรรมอะไรที่เปลี่ยนช้า

อุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ อุตสาหกรรมไฮเทคทั้งหลายโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต และการสื่อสารโทรคมนาคม เพราะนี่คือภาคอุตสาหกรรมที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้ ถ้าลองนึกย้อนหลังไปไม่นานนักก็จะพบว่าบริษัทที่ยิ่งใหญ่ในอดีตจำนวนมากนั้น บัดนี้กลายเป็นบริษัทที่ “มีปัญหา” ไล่ตั้งแต่อดีตยาวนานก็มีบริษัท เท็กซัสอินสตรูเม้นท์ ที่โด่งดังมากสมัย 40 ปีก่อน ที่ผมยังเรียนวิศวกรรมในมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้ผลิตเครื่องคิดเลขเครื่องแรก ๆ ของโลกและ ฟิลิปส์ ฟิชเชอร์ ปรมาจารย์การลงทุนคนหนึ่งที่ บัฟเฟตต์ ยกย่อง กล่าวถึงว่าเป็นบริษัทที่เป็น “ซุปเปอร์สต็อก” แต่เดี๋ยวนี้ไม่รู้อยู่ไหน

ต่อมาก็มีบริษัท IBM คอมพิวเตอร์ หรือ Big Blue หรือ “ยักษ์สีฟ้า” สัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เป็นตัวแทนของอเมริกันที่เป็น “จ้าวแห่งเทคโนโลยีโลก” แต่แล้ว บริษัทเล็ก ๆ ก่อตั้งโดยเด็กอายุไม่ถึง 20 ปีชื่อ ไมโครซอฟท์ ก็ก้าวขึ้นมาแข่งขันด้วยซอฟท์แวร์ควบคุม “คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล” ที่ในที่สุดสามารถแย่งชิงการนำในธุรกิจคอมพิวเตอร์และกลายเป็น “ราชันย์แห่งโลกของไอที” ในเวลาอันสั้น และแม้ว่าบริษัท IBM เองก็ยังยิ่งใหญ่อยู่ แต่บทบาทในฐานะผู้นำทางด้านธุรกิจก็แทบไม่เหลือแล้ว มาถึงยุคของโทรคมนาคม เรามีโมโตโรลา ที่ในยุคแรกของโทรศัพท์มือถือนั้นทุกคนต้องใช้เครื่องของโมโตโรลา แต่แล้ว ภายในเวลาไม่นานนักทุกคนต่างก็ต้องการใช้มือถือของโนเกีย บริษัทสุดยอดทางด้านไฮเทคจากประเทศฟินแลนด์ที่อดีตถูกปรามาสว่าเป็น “ประเทศหลังเขาแห่งยุโรป” โนเกียกลายเป็นความภาคภูมิใจของฟินแลนด์และหุ้นโนเกียนั้นใหญ่คับตลาดหุ้นฟินแลนด์ แต่แล้ว โนเกียเองก็ประสบชะตากรรมแบบเดียวกับโมโตโรลาและบริษัทกำลังประสบกับปัญหา เนื่องจากแอปเปิลได้เข้ามายึดกุมตลาดของสมาร์ทโฟนที่เป็นที่คลั่งไคล้ของคนทั้งโลก หุ้นของแอปเปิลกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ผมยังไม่ได้พูดถึงบริษัทไฮเทคที่เคยยิ่งใหญ่จำนวนมากอาทิ พานาโซนิค โซนี่ ชาร์ป หรือ บริษัทโกดัก ต่างก็ตกลงมาจากจุดสูงและแทนที่อาจจะโดยซัมซุงและบริษัทที่เคย “รองบ่อน” อื่น ๆ เพราะคงไม่มีเนื้อที่พอที่จะกล่าวถึง และนี่ยังไม่นับผู้เล่นที่กำลังกลายเป็น “ราชันย์” ใหม่ ๆ อย่าง กูเกิลและเฟซบุค ประเด็นของผมก็คือ “ราชันย์” ในวันนี้ก็อาจจะกลายเป็น “ยาจก” ในวันข้างหน้าได้ บางทีในเวลาไม่นานนัก

ในอีกด้านหนึ่ง อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงช้ามาก โค๊กนั้นเป็นเครื่องดื่มที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกมาช้านานอาจจะเกือบร้อยปี ถึงวันนี้โค๊กก็ยังยิ่งใหญ่เหมือนเดิมหรือยิ่งใหญ่ขึ้นโดยที่ไม่มีทีท่าว่าจะมีเครื่องดื่มชนิดไหนมาแซงได้ เช่นเดียวกัน แม็คโดนัลด์เองก็เป็นอาหารที่ยิ่งใหญ่พอ ๆ กันและนับวันมันจะขยายไปทั่วโลกโดยที่ยังหาคนที่มาต่อกรได้ยาก นอกจากอาหารแล้ว ธุรกิจค้าปลีกประเภทขายสินค้าราคาถูกอย่างวอลมาร์ท คาร์ฟู และ เทสโก้ เหล่านี้ต่างก็เป็นผู้นำในตลาดของประเทศตนเองและตลาดโลกมาช้านานโดยที่ไม่มีความเสี่ยงที่จะมีคู่แข่งมาทำลายตำแหน่งของตนเองได้ เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งสองอุตสาหกรรมต่างก็เป็นธุรกิจ “โลว์เทค” ที่มีการใช้เทคโนโลยีน้อยมาก

อุตสาหกรรมที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเร็วระดับกลาง ๆ นั้น ผมคิดว่าน่าจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความไวต่อสภาวะเศรษฐกิจหรืออาจจะมีความเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารที่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงภาวะวิกฤติที่ทำให้ผู้นำหรือบริษัทที่โดดเด่นแต่บริหารงานอย่างไม่ระมัดระวังต้องประสบปัญหาล้มหายตายจากไปและมีบริษัทระดับรองก้าวขึ้นมาแทนที่ เช่นเดียวกัน การวางกลยุทธ์หรือการบริหารงานที่ผิดพลาดก็อาจจะทำให้บริษัทที่เป็นผู้นำค่อย ๆ เสียส่วนแบ่งการตลาดไปทีละน้อยจนในที่สุดกลายเป็นผู้ตามได้

กลับมาที่ตลาดหุ้นไทย ค่าที่ว่าเราไม่มีอุตสาหกรรมไฮเทคจริง ๆ ผมจึงลองมาคิดดูว่าอุตสาหกรรมอะไรที่น่าจะถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงเร็ว คำตอบของผมก็คือ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่ทำเพื่อขาย เช่น บริษัทขายบ้านจัดสรร เหตุผลก็คือ นี่คือธุรกิจที่ต้อง “นับหนึ่งใหม่” ทุกปีเพราะลูกค้าเดิมไม่ซื้อซ้ำ ดังนั้น เราจึงเห็นบริษัทที่เป็นผู้นำอันดับหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก นอกจากนั้น ระหว่างอันดับหนึ่งกับอันดับ 2 และ 3 นั้น ยอดขายไม่ได้ทิ้งห่างกัน และดูเหมือนว่าโอกาสที่อันดับหนึ่งอาจจะ “แพ้” นั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ธุรกิจการเงินเองซึ่งรวมถึงธนาคารด้วย ดูเหมือนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วพอสมควร อันดับหรือความโดดเด่นนั้น อยู่ในระดับที่สู้กันได้อย่างน้อยใน 3 อันดับแรก ในธุรกิจหลักทรัพย์เองผมคิดว่ามีโอกาสที่ผู้นำจะเปลี่ยนแปลงได้เสมอ บางทีอาจจะเกิดขึ้นจากการขยายตัวภายในหรืออาจจะมีการควบรวมกับรายอื่นทำให้สถานะและความสามารถในการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปในเวลาไม่นานนัก

เช่นเดียวกับต่างประเทศ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับอาหาร ค้าปลีก และอาจจะรวมถึงพลังงาน น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปช้า ผู้นำก็ยังคงเป็นผู้นำ ตำแหน่งทางการตลาดนั้นไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ง่าย เช่นเดียวกับผลประกอบการที่มักจะมีความสม่ำเสมอมากกว่าธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว

ธุรกิจไอที สื่อสาร บันเทิง สื่อ และ สิ่งพิมพ์ น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วพอสมควรโดยเฉพาะในช่วงที่มีเทคโนโลยีและการกำกับควบคุมใหม่ ๆ เกิดขึ้น ในธุรกิจเหล่านี้ บางทีเราจะต้องระวังว่าผู้นำอาจจะเพลี่ยงพล้ำและผู้ตามหรือผู้เล่นหน้าใหม่ขึ้นมากลายเป็น “ดารา” ได้

มองในมิติของหุ้น ผมเองไม่ชอบอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วเพราะบริษัทในอุตสาหกรรมจะมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ บ่อยครั้งผมจะหลีกเลี่ยงโดยเฉพาะถ้ามันกำลังอยู่ในช่วงที่เปลี่ยนแปลงรุนแรง แต่ถ้าผมคิดจะลงทุนในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ผมก็มักจะต้อง “ขอส่วนลด” หรือให้ค่า PE ของหุ้นต่ำกว่าหุ้นของบริษัทที่มีสถานะใกล้เคียงกันแต่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ “มั่นคง” กว่า