ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหุ้นปันผล

หุ้นบริษัทที่ปันผลดีๆ ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของ

ตัวอย่างเช่นบริษัทร้านหนังสือ ที่ปันผลสม่ำเสมอทุกปี ในอัตราสูงกว่า 80% ของกำไร คือ ทำกำไรได้เท่าไหร่ ก็ปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเกือบหมด (คิดเป็นเงินปันผลสูงถึง 5-7%) เหลือกำไรเก็บไว้นิดหน่อยในบริษัท เผื่อขยายธุรกิจ หรือเผื่อความจำเป็นด้านอื่นๆ

ถ้าดูย้อนหลังไปหลายๆ ปี บริษัทนี้มียอดขาย และกำไรเติบโตค่อนข้างสม่ำเสมอ นักลงทุนสามารถคาดหวังอัตราการเติบโต และเงินปันผลได้ค่อนข้างแน่นอน

แต่ก็มีอีกหลายบริษัท ที่ใช้เงินปันผล ล่อใจนักลงทุน โดยในบางปี จะปันผลสูงถึง 8-12% กลายเป็นหุ้นปันผลในฝันของนักลงทุนหลายๆ คน

ในทางทฤษฏี กรรมการบริษัทสามารถอนุมัติเงินปันผล จะกี่มากน้อยก็ได้ ยิ่งมากผู้ถือหุ้นยิ่งชอบ

แต่ในทางปฎิบัติ การจะปันผลสูงกว่าต้นทุนเงิน ไม่ควรทำ เช่น ถ้าธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 6.5% ต่อปี ผู้บริหาร หรือเจ้าของบริษัท ควรจะออกนโยบายซื้อหุ้นคืน (บางส่วน หรืออาจจะทั้งหมด) จะเป็นการสมเหตุสมผลมากกว่า

โดยเงินที่นำมาซื้อหุ้นคืน อาจจะมาจากแหล่งเงินกู้ หรือกำไรสะสมของบริษัท

เป็นไปไม่ได้ที่บริษัทใด บริษัทหนึ่ง จะปันผลสูงถึง 10% ต่อปี โดยไม่คิดถึงต้นทุนการเงิน

การนำบริษัทเข้าตลาดฯ ระดมเงินทุน ที่ไม่มีต้นทุน (ไม่มีดอกเบี้ยจ่าย) ก็เพื่อใช้ในการขยายกิจการ

ถ้าถึงจุดหนึ่งที่กำไรของบริษัท สูงกว่าต้นทุนทางการเงินในตลาด ผู้บริหารควรจะทำแผนซื้อหุ้นคืนในตลาด หรือถ้าผู้บริหารเห็นว่าบริษัทมีกำไรมากพอ ไม่จำเป็นต้องพึ่งแหล่งเงินทุนอื่นๆ แล้ว ก็ควรจะทำ Tender Offer เอาบริษัทออกจากตลาด

———-

ไม่มีใครเอาบริษัทเข้าตลาด เพื่อแหล่งเงินทุนที่ตัวเองไม่ต้องการ แถมยังต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด จะทำธุรกรรมอะไร ก็ต้องแจ้ง กลต. แจ้งนักลงทุน

ตัวอย่างบริษัทหนึ่งในตลาดฯ เพิ่งอนุมัติเงินบริษัท ซื้อรถ Porche ไป ถ้าคิดในแง่เจ้าของ การจะอนุมัติให้บริษัทซื้อะไรก็เป็นสิทธิ์ของเจ้าของ แต่เมื่อไหร่ก็ตาม ที่มีคนนอกเข้ามาเป็นเจ้าของร่วม การอนุมัติซื้อของบางอย่าง กลายเป็นความผิด ความไม่ถูกต้อง ถูกสังคมวิจารณ์ต่างๆ นาๆ

ถ้าถึงจุดหนึ่ง ที่บริษัทสามารถทำกำไรได้สูงกว่าต้นทุนทางการเงิน บริษัทจะไม่ปันผลออกมามากเกินไป แต่จะใช้วิธีซื้อหุ้นคืน ไม่บางส่วนก็ทั้งหมด

การที่บริษัทบางบริษัท ปันผลออกมามากกว่า 10% เราควรต้องระวังให้มาก เพราะบริษัทที่ปันผลออกมาสูงขนาดนี้ ถ้าผู้บริหารไม่ไร้สามารถ ก็ต้องมีอะไรบางอย่างแฝงอยู่

ขอยกตัวอย่างบริษัทในตลาด MAI ที่ประกาศปันผลสูงถึง 13% ในปีที่ผ่านมา นักลงทุนรายย่อย แห่เข้าไปซื้อหุ้นกันใหญ่ ดันราคาหุ้นสูงขึ้นกว่า 40% ภายในไม่ถึงปี

ถ้าดูเผินๆ นักลงทุนจะคิดว่า หุ้นตัวนี้ถือเป็นหุ้นปันผลชั้นดี แต่ถ้าดูผลประกอบการเทียบกับเงินปันผล จะรู้ว่าบริษัทนี้ ปันผลออกมามากกว่ากำไรที่ทำได้

การปันผลมากกว่ากำไรที่ทำได้ อาจทำได้ หากกระแสเงินสดบริษัท มีมากเกินความจำเป็น และมีค่าเสื่อมสูง แต่โดยปกติ บริษัททั่วๆ ไป จะไม่ทำกัน ยกเว้นมีแรงจูงใจบางอย่าง เช่น ต้องการสร้างราคา หรือทำราคาหุ้น, ต้องการถอนทุนคืน, ฯลฯ

———-

ยิ่งถ้าบริษัทไหน ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง และหนี้สินเพิ่มขึ้น

แสดงว่ากู้มาปันผล (แทนที่จะเอากำไรไปชำระหนี้) อันนี้ต้องระวังให้มากๆ