ดีอย่างไร เมื่อออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เมื่อกล่าวถึง “การออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” มีข้อดีอย่างไร สำหรับลูกจ้างที่เป็น “มนุษย์เงินเดือน” ที่ทำงานประจำหลายๆ ท่านอาจตอบได้แต่เพียงว่า “เป็นเงินเก็บไว้ใช้ตอนเกษียณอายุ”เท่านั้น เหตุผลเป็นเพราะอาจเพิ่งเริ่มทำงาน หรือไม่เคยศึกษาให้เข้าใจในรายละเอียด วัตถุประสงค์ ผลประโยชน์ที่จะได้รับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รู้เพียงแต่ว่าเรามีหน้าที่เลือกให้ถูกหักเงินเป็นประจำจากเงินเดือนที่ได้รับ แล้วแต่สมัครใจ มารู้ตัวอีกทีในช่วงกลางปีหรือสิ้นปีก็จะมีใบสรุปยอดเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ทราบยอดเงินสะสม เงินสมทบ ผลประโยชน์เงินสะสมและเงินสมทบ หากคุณยังตอบคำถามข้างบนไม่ได้ว่ามีข้อดีอย่างไรบ้าง นอกจากคำตอบที่คนส่วนใหญ่ทราบ เรามาทำความรู้จักกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันดีกว่าครับ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เป็นการเก็บออมเงินภาคสมัครใจทางหนึ่ง โดยนายจ้างและลูกจ้างทำร่วมกัน ในแต่ละเดือนนายจ้างจะหักเงินเดือนส่วนหนึ่งของลูกจ้างเพื่อนำไปเข้ากองทุนสำรองเลี้ยง ชีพ ซึ่งเงินในส่วนของลูกจ้าง เรียกว่า “เงินสะสม” และนายจ้างจ่าย “เงินสมทบ” เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในจำนวนไม่น้อยกว่าที่ลูกจ้างจ่ายเงินสะสม แต่จะไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินเดือน นั่นคือ นอกจากลูกจ้างจะออมแล้ว นายจ้างยังช่วยออมอีกแรงหนึ่งด้วย ซึ่งนายจ้างจะจ่ายสมทบในจำนวนเท่ากันหรือมากกว่าที่ลูกจ้างจ่ายสะสมเสมอ จึงกล่าวได้ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นรูปแบบหนึ่งของการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้าง ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้าง โดยลูกจ้างจะได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ต่อเมื่อลาออกจากบริษัท ซึ่งจะได้รับเงินสะสมเต็มจำนวน ส่วนเงินสมทบจะได้รับตามเงื่อนไขของนายจ้างที่ตกลงกับลูกจ้างเอาไว้ตั้งแต่แรก เช่น

1) อายุงานน้อยกว่า 1 ปี จะได้รับเงินสมทบ ร้อยละ 10

2) อายุงานตั้งแต่ 1-5 ปี จะได้รับเงินสมทบ ร้อยละ 10-50 ตามจำนวนปีที่ทำงาน

3) อายุงานตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป จะได้รับเงินสมทบ ร้อยละ 100

โดยระหว่างการออมเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ ลูกจ้างไม่สามารถเบิกเงินก้อนนี้ออกไปใช้ได้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของกองทุนนี้คือ “การเก็บออมเพื่อให้ลูกจ้างมีเงินเก็บไว้สำหรับใช้ในยามเกษียณ” อย่างที่หลายท่านเข้าใจ และเราจะได้รับเงินทั้งหมดก็ต่อเมื่อเข้ากรณีใดกรณีหนึ่งใน 3 กรณี ได้แก่ 1) เกษียณอายุจากการทำงาน เมื่อมีอายุครบ 55-60 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ต้องดูข้อบังคับของกองทุน 2) เกิดเหตุทุพพลภาพจนทำงานไม่ได้ หรือ 3) เสียชีวิต ซึ่งทั้ง 3 กรณีจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินที่ได้รับไปคำนวณในการเสียภาษีเงินได้

สำหรับพนักงานที่มีอายุไม่มากนัก หากมีเหตุจำเป็นต้องย้ายงาน หรือถูกให้ออกจากงานก่อนเกษียณอายุ (Early Retirement) มักมีคำถามมากมายตามมาว่า “ต้องลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเลยหรือไม่ ควรจะทำอย่างไรดี” “เงินได้จากกองทุนต้องนำไปคำนวณภาษีด้วยหรือเปล่า” คำตอบที่อีกหลายท่านยังไม่ทราบ คือ เราไม่จำเป็นต้อง “ลาออก” เราสามารถ “โอนย้าย” เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฝากให้ดูแลเงินของเราได้ 1 ปี (ขึ้นอยู่กับข้อบังคับกองทุน) โดยไม่ต้องรีบนำเงินออกมา เมื่อได้งานใหม่ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็โยกเงินทั้งหมดมาลงในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใหม่ วิธีนี้ไม่ต้องนำเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษี เพราะถือว่ายังไม่ได้ออกจากกองทุน

หากสังเกตให้ดีจะพบว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่มีในทุกบริษัท ธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่จะไม่มีการจัดตั้งกองทุนนี้ เนื่องจากนายจ้างไม่ต้องการแบกภาระการจ่ายเงินสมทบให้กับลูกจ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ แต่สำหรับบรรดาพนักงานกินเงินเดือนที่ทำงานอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมาก ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ ก็ไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องนี้มากเท่าไรนัก ยกตัวอย่างเช่น เคยมีเพื่อนมาปรึกษาผู้เขียนถึงการหักเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่าบริษัทที่ทำงานอยู่ให้สิทธิปรับเปลี่ยนการหักเงินกองทุนฯ ได้ปีละครั้ง ควรหักเท่าไรดี โดยความเห็นส่วนตัวเขามองว่าเป็น “ภาระในทุกๆ เดือน” ที่เห็นตัวเลขถูกหักเงินในสลิปเงินเดือน และที่สำคัญคือไม่ทราบผลประโยชน์ที่จะได้รับ รู้เหมือนกับหลายๆ ท่านเพียงแค่ว่าสำหรับใช้ในยามเกษียณอายุ โดยเพื่อนผู้เขียนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าที่บริษัทมีให้เลือกได้ 3 แบบ คือ 3%, 5% และ 10% เงื่อนไขของบริษัทคือ พนักงานหักเท่าไร บริษัทจะสมทบให้ตามที่พนักงานเลือก ตรงนี้ผู้เขียนได้แนะนำให้เลือกหักในอัตราสูงสุดที่บริษัทกำหนด คือ 10% โดยให้เหตุผลว่าจะได้รับเงินสมทบจากบริษัทในอัตราที่เท่ากันอีก 10% รวมผลประโยชน์ทั้งหมดที่จะได้เป็น 20% เพื่อที่จะได้เป็นเงินเก็บสำหรับการมีชีวิตเกษียณได้อย่างมีความสุข อีกทั้งยังเป็นการบังคับให้มีวินัยในการเก็บออมก่อนนำมาใช้ด้วย ซึ่งเพื่อนคนนั้นก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำเพราะเห็นข้อดีตรงที่เป็นการ ”บังคับให้เก็บเงิน”เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ไม่ค่อยมีวินัยในการใช้จ่ายเงินสักเท่าไร ทีนี้ลองมาดูผลประโยชน์จากกองทุนนี้เพิ่มเติมกันครับ

ข้อดีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ เป็นตัวช่วยชั้นเยี่ยมสำหรับการสร้างหลักประกันเพื่อเกษียณอายุ หรือเมื่อออกจากงาน และยังเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัวกรณีที่เกิดเสียชีวิต เปรียบเสมือนการลงทุนที่เราได้ รับผลประโยชน์ถึง “สองต่อ” เพราะเมื่อคุณจ่าย “เงินสะสม” เข้าไปในกองทุนแล้ว นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย “เงินสมทบ” เท่าๆ กันหรือ ไม่เกิน 15% เพื่อนำเม็ดเงินไปบริหารโดยผู้จัดการกองทุนฯ มืออาชีพ ที่จะทำให้เกิดผลตอบแทนเพิ่มขึ้น แต่ที่ดีไปกว่านั้น คือ เงินที่คุณจ่ายสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปทุกๆ ปี สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง หรือไม่เกินปีละ 500,000 บาท เห็นไหมครับว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถใช้เป็นตัวช่วยเรื่องเงินๆ ทองๆ ของเราได้มากขนาดไหน ทั้งช่วยลดหย่อนภาษี เงินสมทบเพิ่มจากนายจ้าง อีกทั้งผลประโยชน์จากเงินสะสมและเงินสมทบ รู้อย่างนี้แล้วควรใช้สิทธิเลือกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราสูงสุดที่บริษัทกำหนดให้ดีกว่าไหมครับ

โดย : คนอง ศรีพิบูลพานิชย์
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย