นาฬิกาชีวิต

บทสัมภาษณ์ ดร.อภิวัฒน์ วัฒนางกูร บางส่วนใน นสพ.คมชัดลึก 29 ก.ย.2548

wattanangkul

ดร.อภิวัฒน์ วัฒนางกูร หรือชื่อใหม่ว่า ดร.วรฑา วัฒนะชยังกูร เล่าย้อนถึงอาการก่อนหน้าเป็นมะเร็งว่า “รู้สึกว่าเวลาเข้าห้องน้ำ ทำไมถ่ายอุจจาระไม่หมดสักที บางที 1 นาทีก็กลับมาอีกแล้ว คือจะปวดตลอดเวลา แต่ไม่ได้ปวดท้องนะ แค่ปวดอยากถ่าย แล้วพบว่ามันจะมีเลือดออกมาด้วย เวลาที่ถ่ายเป็นเลือดจะรู้สึกตกใจ เราถึงได้ไปหาหมอ”

วันที่ไป หมอก็ให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเลย วันรุ่งขึ้นก็ตรวจส่องกล้อง เมื่อส่องกล้องออกมาเจอ แล้วตัดออกมาก็ไม่พบ แต่ผลเลือดชี้ชัดว่าเป็น ก็ไปหาหมอที่จะผ่าตัดเรา เข้าโรงพยาบาลวันที่ 9 – 10 สิงหาคม แต่วันที่ผ่าคือ 11 สิงหาคม ปีที่แล้ว (2547) ตั้งแต่วันแรกที่เลือดออก จนถึงวันที่ผ่าตัดเอาออกไป 21 วัน

“การผ่าตัด เป็นทางออกที่ต้องเร่งทำ เนื่องจากมะเร็งเป็นเซลล์ที่แบ่งตัวเร็วมาก ซึ่งหากดูลักษณะการแพร่กระจายแล้ว ถือเป็นระยะที่ 3 เพราะเมื่อตัดลำไส้ออกไป มะเร็งได้ลุกลามไปอยู่ที่ตับแล้ว นั่นแสดงว่า มันไม่ได้เริ่มต้น แต่มันมีอยู่แล้ว เพียงแต่ตรวจไม่พบเท่านั้น ดังนั้น การรักษาต่อหลังการผ่าตัดลำไส้ คือ การใช้เคมีบำบัด ซึ่งทำให้เหนื่อยอ่อนจนทำงานไม่ได้ นอกจากนี้ชีวิตประจำวันของเขายังเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ทุกวันนี้ ดร.วรฑา รับการรักษาด้วยวิธีฉีดยาเข้าไปในร่างกาย เพื่อไปทำลายเส้นเลือดที่ต่อกับเซลล์มะเร็ง โดยจะทำทุกสัปดาห์ และให้แพทย์ดูผลใน 2 เดือน

นอกจากนี้ยังมี “ยาใจ” ที่ช่วยให้เขาดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข โดย ดร.วรฑา เผยว่า “เวลาที่ไปโรงพยาบาล เวลาที่เราเหนื่อยอ่อน พ่อกับแม่ก็จะคอยประคอง แล้วเดินไปด้วยกัน เรามีความรู้สึกว่าอายุ 48 แล้วนะ พ่อแม่ยังดูแลเราอยู่เลย แล้วพอไปถึงโรงพยาบาล เจอคนรู้จักก็จะถามว่าพ่อ-แม่เป็นอะไร ไม่เคยมีใครนึกว่า พ่อแม่จะพาลูกมาโรงพยาบาล

ไม่เคยมีสิ่งไหนเลย ที่จะทำให้เราท้อถอย หมดกำลังใจ จะบอกกับตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่า “ต้องหาย” เราไม่มีทางเลือกอื่น เรากลับรู้สึกว่าเราให้ความสำคัญ และคุณค่ากับการมีชีวิตอยู่ มากขึ้นด้วยซ้ำไป อยากมีชีวิตอยู่เพื่อดูลูกเติบโตขึ้นมา อันนี้คือ ความรู้สึกที่ทำให้ “วรฑา” จึงต้องเกิดขึ้น ไม่ได้คิดว่าการเปลี่ยนชื่อ เป็นการแก้เคล็ด แต่มันเปลี่ยนจากความรู้สึก ที่เราเป็นคนเรียกหาเอง “อภิวัฒน์” เขาเหนื่อยยากมามากแล้ว ให้เขาพักผ่อนเถอะ แล้วให้ “วรฑา” เขามีชีวิตใหม่

การทุ่มเทเวลาให้กับงาน จนลืมให้ความสำคัญกับตัวเอง ไม่ใช่การใช้ชีวิตที่ถูกต้อง เพราะเวลาที่เราเจ็บป่วย ก็จะมีแต่คนที่เรารักเท่านั้นคอยดูแล หากเหตุผลของการทำงานหนัก คือเพื่อเลี้ยงดูลูกเมีย ในที่สุดแล้วผลที่เกิดขึ้น ก็จะมีแต่ลูกเมียเท่านั้นที่ได้รับความทุกข์นี้

การจัดสรรชีวิต เป็นเรื่องที่สำคัญ โปรดรู้ไว้ว่า การนอนชดเชยไม่มีจริงในชีวิตนี้ การสูญเสียการนอนไปแล้ว ชดเชยด้วยการนอนสองเท่าไม่ได้ นาฬิกาชีวิตมันผ่านไปแล้ว ชีวิตในเวลานั้นๆ มันต้องพัฒนาม้าม มันต้องพัฒนาลำไส้ เราต้องเข้าใจกลไกของชีวิต เข้าใจกลไกของร่างกาย เข้าใจวิธีการที่จะดูแลตัวเองให้อยู่ไปนานๆ ทุ่มเททำงานได้ แต่อยากจะทำไปอย่างนี้ได้นานๆ ไหม ถ้าอยากทำควรจะใส่ใจตัวเองให้มากกว่านี้