มันมีบางอย่างข้างหลังตัวเลข

โดย คนขายของ

วิธีหนึ่งที่ผมมักใช้ในการหากิจการที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน (Durable Competitive Advantage หรือเรียกย่อๆว่า DCA) ก็คือการเปรียบเทียบตัวเลข Net Profit Margin (NPM) ของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยมากบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนมักจะมีตัวเลข NPM สูงกว่าคู่แข่ง เพราะว่าตัวเลข NPM ที่สูงกว่าแสดงถึงการควบคุมต้นทุนที่ดีกว่าการบริหารต้นทุนการเงินที่ดีกว่า การควบคุมสินค้าคงคลังที่ดีกว่า มี Business Model ที่เหนือกว่า และอื่นๆอีกมากมาย ผมขอยกตัวอย่างในอดีตดังนี้

กรณีที่ 1 บริษัทที่ผลิตกระเบื้องเป็นหลักในเมืองไทยที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เมือสี่ปีก่อนมีอยู่สี่บริษัท เป็นที่น่าสังเกตุว่าตัวเลข NPM ของบริษัทกระเบื้องส่วนใหญ่ขาดทุนหมดในปี 2551 แต่มีอยู่บริษัทหนึ่งที่สามารถทำ NPM ได้ถึง 13% ในปีนั้น ตัวเลขนี้เป็นที่น่าสนใจอย่างมากทำให้ผมทำการศึกษาต่อว่า

เพราะเหตุใดในขณะที่คนอื่นขาดทุนหมด แต่บริษัทนี้กลับทำ NPM ได้ถึง 13% อย่างนี้แสดงว่าต้องมีดี และก็เป็นจริงดังคาด จากการศึกษา Business Model ของบริษัทนี้ผมพบว่าแทนที่บริษัทจะมุ่งเน้นการขายผ่านช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่เหมือนเจ้าอื่นๆ เขากลับสร้างร้านจำหน่ายสินค้าของเขาเอง ซึ่งแต่ละร้านที่เขาเปิดใช้เงินลงทุนไม่มาก ไม่ติดแอร์ แต่ใช้ระบบ IT เข้ามาจัดการสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ

การขายผ่านหน้าร้านของบริษัทเองทำให้บริษัทไม่ต้องให้เครดิต มาร์จิ้นไม่ถูกกดเหมือนการขายผ่านช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในระดับสูง และสามารถจ่ายปันผลได้ ในขณะที่ตอนนั้นผู้คนในตลาดไม่มีใครสนใจธุรกิจกระเบื้องเพราะเหมาเอาหมดว่าเป็นธุรกิจตะวันตกดิน ต้นทุนเราไม่สามารถแข่งขันกับจีนได้ กระเบื้องจีนต่อไปจะเข้ามาตีตลาด แต่กลายเป็นว่าหลังจากนั้นมาไม่กี่ปี บริษัทนี้กลับได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ใน SET50 Index

กรณีที่ 2 ธุรกิจรับเงินสดเป็นธุรกิจที่ผมชอบมานานแล้ว เพราะผมเคยเป็นพนักงานขายทำให้รู้ว่า ขายของได้ยังไม่นับว่าเก่ง ถ้าเก่งจริงต้องเก็บเงินให้ได้ด้วย และรู้ดีว่าขั้นตอนการทวงเงินนั้นมันยุ่งยากขนาดไหน

ดังนั้นธุรกิจร้านอาหารจึงเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผมติดตามอยู่เสมอ ผมเคยทำการวิเคราะห์ NPM ของร้านอาหารของไทย ของเอเซีย และร้านที่มีเครือข่ายระดับโลกที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และพบว่า NPM ส่วนใหญ่จะประมาณ 10% หรือต่ำกว่า แต่กลับมีบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นร้านอาหารแบบทานด่วนที่ใหญ่ที่สุดในโลก กลับทำNPM ได้เกือบ 20% ติดต่อกันมานานหลายปี เขาทำได้อย่างไร ทำไมไม่มีใครทำได้ อย่างนี้มันต้องมีสิ่งที่เรียกว่า DCA อย่างแน่นอน หลังจากที่ศึกษา Business Model ของบริษัทนี้ผมพบว่า จริงๆแล้วเขาไม่ได้ขายอาหารแต่อย่างเดียวแต่ยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แฝงตัวอยู่ในนั้นด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะว่า เมื่อหลายสิบปีมาแล้วตอนที่บริษัทเริ่มขยายแฟรนไชส์ร้านในอเมริกา ผู้ซื้อแฟรนไชส์ประสบปัญหาไม่สามารถหาทำเลดีๆในการทำร้านอาหาร หรือไม่ก็ไม่มีเงินพอที่จะลงทุนสร้างร้าน ทำให้บริษัทแม่ต้องเข้ามาเป็นผู้จัดหาร้านให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ โดยบริษัทแม่จะเก็บค่าเช่าร้านคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขายหรือไม่ก็เช่าช่วงมาแล้วมาปล่อยต่อให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ เมื่อเวลาผ่านไปอสังหาเหล่านั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากมาย ธุรกิจอาหารก็ได้รับความนิยม ยอดขายเพิ่มขึ้นมากมายทำให้ค่าเช่าก็เพิ่มขึ้นด้วย

หน่ำซ้ำบริษัทแม่ยังสามารถทำการซื้อขายอสังหาเหล่านั้นได้อีก บริษัทอื่นที่มาทีหลังหากต้องการทำธุรกิจร้านอาหารด้วย Business Model เดียวกันนี้คงทำได้ยากเพราะต้นทุนของธุรกิจอสังหาจะสู้ผู้ที่มาก่อนไม่ได้เนื่องจากเงินเฟ้อทำให้ค่าก่อสร้างและต้นทุนสัญญาเช่าที่เพิ่มขึ้นในทุกๆปี

ในการลงทุนแบบเน้นคุณค่าโดยมากจะเป็นการถือหุ้นในระยะยาวกว่าค่าเฉลี่ยของคนในตลาด

นักลงทุนควรให้ความสำคัญต่อธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนซึ่งมีความหมายมากกว่าการให้ความสำคัญต่อตัวเลขอัตราส่วนทางการเงิน เพราะในการถือหุ้นระยะยาวเราคงหลีกเลี่ยงการถือหุ้นฝ่าวิกฤตได้ยาก ในวิกฤตเราจะเห็นว่ามีบริษัท PE < 5 PBV < 1 ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นที่ราคาถูก แต่กลับต้องปิดกิจการลง แต่หุ้นที่มี DCA นั้นสามารถฝ่าวิกฤตไปได้ และมีอยู่หลายครั้งที่ราคาจะขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เมื่อวิกฤตผ่านพ้นไป

Credit: K.Thai VI Article @ ThaiVI.org