สิทธิประโยชน์จากการทำงาน

ผู้ที่เริ่มงานประจำเป็นครั้งแรก อาจรู้สึกว่าการหักเงินเข้ากองทุนประกันสังคม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้นเป็นเรื่องไม่จำเป็น เพราะมองว่าเป็นภาระมากกว่าสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ สาเหตุอาจเกิดจากการที่มีรายได้ยังไม่สูงมากนัก ทำให้มีเงินเหลือใช้จ่ายหลังจากหักค่าใช้จ่ายน้อยลง นอกจากนี้ ตนเองอาจไม่แน่ใจว่าจะได้ใช้สวัสดิการดังกล่าวเมื่อไร อย่างไรก็ตาม หากท่านทราบหรือลองศึกษาสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับอย่างครบถ้วน รายจ่ายดังกล่าวอาจมีค่ามากกว่าที่ท่านคิดก็ได้

สิทธิประโยชน์จากการทำงานส่วนแรกที่จะกล่าวถึงคือ ประกันสังคม ประกันสังคมเป็นสวัสดิการภาคบังคับสำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงจนหรือพนักงานทั่วไปซึ่งต่างมีสิทธิใน สวัสดิการส่วนนี้เท่าเทียมกัน สวัสดิการประกันสังคมนี้ครอบคลุม 7 ในกรณี ได้แก่ การเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน ในอนาคตหากท่านเกษียณอายุหรือลาออกจากการเป็นสมาชิกประกันสังคม ท่านมีสิทธิ์รับบำเหน็จที่เป็นเงินก้อน หรืออาจรับเป็นบำนาญหากได้มีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นระยะ เวลาตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป

ประกัน สังคมนับได้ว่าเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่เสริมความมั่นคงทางการเงินให้กับผู้ ที่ทำงาน เนื่องจากทั้งนายจ้างและรัฐบาลต่างสนับสนุนด้วยการส่งเงินสมทบเพิ่มเติมให้ ทุกๆ เดือน โดยนายจ้างสมทบในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้าง และรัฐบาลสมทบในอัตราร้อยละ 2.75 ของค่าจ้าง (ผู้ประกันตนมาตรา 33)  เงิน สมทบดังกล่าวจะถูกนำไปลงทุนในตราสารการเงินที่มีความมั่นคงเพื่อสร้างผลตอบ แทนให้กับผู้ประกันตนในอนาคต นอกจากนี้ ในด้านการประหยัดภาษียังสามารถที่จะนำเงินสมทบมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดที่ 9,000 บาทต่อปี

เฉพาะปี 2555 สามารถนำมาหักลดหย่อนได้สูงสุดที่ 6,300 บาทต่อปี เนื่องจากในปี 2555 คณะกรรมการประกันสังคมลดอัตราเงินสมทบ โดยครึ่งปีแรกจ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 3 และครึ่งปีหลังจ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 4 การปรับลดการจ่ายเงินสมทบมาจากการปรับลดการจ่ายเงินประกันสังคม 2 ส่วน ส่วนแรกคือ เงินสมทบเพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วยทุพพลภาพ/ตาย/คลอด บุตร และส่วนที่สองคือ เงินสมทบที่จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ประกันตนจะมีการจ่ายเงินสมทบที่น้อยลง แต่ยังคงได้รับผลประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเหมือนเดิม สำหรับกรณีชราภาพ ทางภาครัฐได้เพิ่มการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพอีกร้อยละ 1 ของค่าจ้าง เพื่อให้ผู้ประกันตนยังคงได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเหมือนกับกรณีปกติ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2555

สิทธิประโยชน์จากการทำงานที่จะกล่าวถัดไปคือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กอง ทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นเป็นสวัสดิการภาคสมัครใจที่พนักงานสามารถเลือกออมได้ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับตนเองในกรณีที่ลาออกจากงานหรือเกษียณอายุ เงินออมดังกล่าวให้สิทธิกับสมาชิกในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ต่อปี และไม่เกิน 500,000 บาท อีกทั้ง พนักงานจะได้รับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากบริษัท โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนให้กับพนักงานในอัตราที่ ไม่น้อยกว่าจำนวนที่พนักงานสะสมเข้ากองทุน ยกตัวอย่างเช่น หากพนักงานเลือกสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่อัตราร้อยละ 7 ของเงินเดือนเป็นเงินเท่ากับ 1,400 บาทต่อเดือน บริษัทจะต้องควักกระเป๋าจ่ายสมทบให้อีกไม่น้อยกว่า 1,400 บาทต่อเดือนด้วยเช่นกัน

เห็น ได้ว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ทำงานประจำใช้ประกอบ การตัดสินใจเข้าร่วมงานกับบริษัท บริษัทที่มีสวัสดิการดีมีการจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราส่วน ที่สูง มีโอกาสที่พนักงานจะร่วมงานกับบริษัทนานขึ้นเนื่องจากมีแรงจูงใจในการทำงาน

รายจ่ายส่วนสุดท้ายสำหรับผู้ที่ทำงานประจำซึ่งก็คือ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีที่ว่านี้มีประโยชน์ช่วยแบ่งเบาบรรเทาภาระทางการเงินของผู้เสียภาษี การจ่ายภาษีด้วยเงินก้อนเพียงครั้งเดียว ผู้จ่ายอาจขาดสภาพคล่องในการจัดการรายรับรายจ่ายของตนเองได้ แต่การให้หักเงินค่าภาษีไว้ล่วงหน้าเพื่อนำส่งสรรพากรจะช่วยให้ผู้เสียภาษี วางแผนการใช้จ่ายเงินได้ง่ายขึ้น เสมือนกับการแบ่งจ่ายซื้อสินค้าเป็นรายเดือน แทนการซื้อด้วยเงินก้อน ในด้านผู้เสียภาษีเองนั้นก็ต้องอย่าลืมคำนวณด้วยว่าตนเองมีค่าใช้จ่าย หรือค่าลดหย่อนที่ใช้หักภาษีที่เป็นหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เบี้ยประกันชีวิตมาใช้ในการหักลดหย่อนภาษี มากน้อยเพียงใดเพื่อที่จะได้ชำระภาษีได้อย่างถูกต้อง

เห็น ได้ว่า ผู้มีรายได้ประจำได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงินมากมายผ่านช่องทางต่างๆ เช่น สิทธิในการลดหย่อนภาษี ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งเป็นทางเลือกในการเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพให้การบริหารจัดการเงินๆ ทองๆ ของท่านให้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ส่วนนายจ้างก็สามารถนำเงินสมทบประกันสังคม และเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของนายจ้าง มาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

สรุป แล้ว สิทธิประโยชน์จากการทำงานทั้ง 3 ด้าน ล้วนเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ช่วยเสริมสร้างวินัยทางการเงินเพื่อเป็นหลัก ประกันให้กับพนักงาน ให้ความคุ้มครองขั้นต่ำ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการรายรับรายจ่ายเพื่อให้ท่านได้ดำเนิน ชีวิตด้วยความไม่ประมาท

โดย : วสุ ศรีธิมาสถาพร
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาการเงินส่วนบุคคล  ธนาคารกสิกรไทย