เริ่มออมเพื่อการศึกษาบุตรอย่างไรดี

การวางแผนการศึกษาบุตรรูปแบบปัจจุบันของครอบครัวที่เพิ่งมีเจ้าชายหรือเจ้าหญิงตัวน้อย หากคุณพ่อคุณแม่มีภาระผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ รวมถึงการดูแลคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย แน่นอนว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายประจำวันที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน หากวันนี้คุณพ่อคุณแม่ยังไม่มีวินัยในการออมอย่างจริงจัง อาจส่งผลกระทบต่อแผนการศึกษาบุตรในอนาคตได้ ยิ่งครอบครัวที่มีเป้าหมายอยากมีบุตรมากกว่า 2 คน คงต้องคิดมากสักหน่อย เพราะปัจจุบันค่าครองชีพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาก ไหนจะค่าเทอม อุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนพิเศษ ฯลฯ สำหรับครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่มีรายได้ทั้ง 2 คน คงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่ถ้าหากบางครอบครัวมีรายได้จากคุณพ่อหรือคุณแม่ เพียงทางเดียว จะยิ่งมีภาระหนักมากขึ้น กรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับผู้หารายได้หลักของครอบครัว อาจทำให้แผนการดำเนินชีวิตของครอบครัวและแผนการศึกษาบุตรสะดุดลงอย่างแน่นอน ดังนั้นเพื่อให้แผนการศึกษาบุตรสามารถไปถึงเป้าหมายได้อย่างไม่มีอุปสรรค จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีแผนการเงินสำรองไว้ หรืออาจมีการทำประกันชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงลง หรือถ้ายังไม่พร้อมจริงๆ อย่างน้อยที่สุด คุณพ่อคุณแม่ก็ควรมีประกันอุบัติเหตุให้อุ่นใจเบื้องต้นไว้ก่อน

เมื่อครอบครัวเริ่มมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย หรือมีเงินเหลือพอที่จะเริ่มออมได้ ก็มักมีคำถามจากหลายๆครอบครัวว่าควรจะนำเงินที่เหลือไปลงทุนรูปแบบใดจึงจะ ได้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่งแนวทางการออม การลงทุนมีหลากหลายรูปแบบและแต่ละแบบก็มีมุมมองที่น่าสนใจแตกต่างกันไป เช่น หากช่วงนี้การลงทุนในตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ การลงทุนในหุ้นบางส่วน หรือกองทุนหุ้น ก็อาจจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี  หรือในขณะ ที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น การฝากประจำแบบยาวๆ ได้อัตราดอกเบี้ยคงที่อาจทำให้เสียโอกาสได้ เพราะถ้ามีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก จะทำให้เสียโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เพราะเงินลงทุนของเราอยู่ในเงินฝากระยะยาวไปหมดแล้ว ดังนั้นในเบื้องต้น จึงควรเริ่มต้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ อีกทั้งมีสภาพคล่องสามารถซื้อ-ขายได้ทุกวันทำการ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น (K- Money หรือ K-Treasury) เพื่อสำรองเป็นเงินเผื่อฉุกเฉินของครอบครัว อย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายของครอบครัว เป็นต้น

สำหรับคนที่ทำงานประจำ มีรายได้เป็นรายเดือนและต้องการทยอยเก็บเงินให้กับลูกอาจเลือกเงินฝากประจำแบบ “ปลอดภาษี” ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประเภทอื่น อีกทั้งได้รับความคุ้มครองอุบัติเหตุสูงสุด ครั้งละ 20,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และได้รับเงินชดเชยสำหรับ 6 โรคที่พบบ่อยในเด็ก วันละ 1,500 บาท ซึ่งเงินฝากประจำประเภทนี้เรียกว่า “เงินฝากคุ้มครองวัยซน” เป็นการออมเงินอย่างสม่ำเสมอและได้ความคุ้มครองไปในตัวสามารถเริ่มต้นออมขั้นต่ำเพียงเดือนละ 1,200 บาท โดยแบ่งเป็นเงินออม 1,000 บาท และค่าความคุ้มครองเดือนละ 200 บาท เมื่อครบกำหนด 2 ปี (24 เดือน) จะได้รับโบนัสเพิ่มอีก 2.50% ของดอกเบี้ยที่ได้รับเมื่อฝากครบกำหนด (เงินฝากประจำประเภทอื่น จะเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15%)

สำหรับเงินออมเพื่อการศึกษานั้น ไม่ ควรนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากนัก เพราะหากขาดทุนอาจกระทบถึงการศึกษาของบุตรได้ แต่ในขณะเดียวกันหากมีการวางแผนเพื่อเก็บเงินก่อนเรียนเป็นระยะเวลานาน กล่าวคือ ปัจจุบันได้เตรียมค่าเทอมสำหรับการศึกษาในระยะ 3-5 ปี เพียงพอแล้ว และมีเงินเหลืออีกก้อนที่พร้อมจะลงทุน และจะใช้ในระยะเวลา 3-5 ปีในอนาคต ก็ควรมีการกระจายความเสี่ยงให้มากขึ้น โดยลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ของบริษัทชั้นดี เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาว หากในกรณีที่สามารถรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้นอาจมีการลงทุนในกองทุนผสม อย่างเช่น กองทุนเปิด K-PLAN 2 ซึ่งมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสูงสุดไม่เกิน 30% (ส่วนที่เหลือลงในตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล) เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนให้สูงขึ้น แต่ไม่แนะนำให้ลงทุนในกองทุนที่มีหุ้นในสัดส่วนที่สูง เพราะเงินออมเพื่อการศึกษาไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมาก เพราะอาจมีผลกระทบต่อการศึกษาของลูกในอนาคตได้

สำหรับการออมในรูปแบบประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ให้บุตร Pro Education A22/A15 ก็เป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่น่าสนใจ เหมาะสำหรับการออมเงินในระยะยาวเพื่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น เช่น ปริญญาตรี ปริญญาโท ที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก หากเริ่มทยอยออมตั้งแต่บุตรอายุยังน้อย จะช่วยรองรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในอนาคตได้   สามารถเริ่มออมได้ตั้งแต่บุตรอายุ 1 เดือน ถึง 10 ปี กรณีหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แม้วันที่คุณไม่ได้อยู่ชำระค่าเบี้ยประกัน ก็ยังมีความคุ้มครองการศึกษาของบุตรในอนาคต นอกจากนี้ การทำประกันชีวิตยังสามารถซื้อค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยได้อีกด้วย แต่จะมีข้อจำกัด คือ คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถนำค่าเบี้ยประกันบุตรมาลดหย่อนภาษีได้ เพราะเป็นการทำประกันชีวิตในนามบุตร หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการลดหย่อนภาษี ต้องทำประกันชีวิตของตนเอง และนอกจากได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแล้ว ประกันชีวิตยังเป็นหลักประกันให้กับบุตรอีกด้วย ส่วนจะต้องทำทุนประกันเท่าไรจึงจะเหมาะสม ตรงนี้ให้พิจารณาจากกระแสเงินสดรับ-จ่ายในแต่ละ เดือน หมายความว่าต้องดูความสามารถในการส่งเบี้ยประกันชีวิตให้ได้ตามระยะเวลาที่ กำหนด โดยไม่กระทบต่อค่าใช้จ่ายประจำที่มีอยู่  (สามารถส่ง เบี้ยประกันได้ตลอดอายุสัญญา) การทำประกันไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นที่ทุนประกันมากนัก แต่ควรเริ่มให้เหมาะสมกับรายได้ประจำของเรา และมากขึ้นตามระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี

โดย : คนอง ศรีพิบูลพานิชย์
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาการเงินส่วนบุคคล  ธนาคารกสิกรไทย