โดย : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
ในการลงทุน ผู้ลงทุนจะมีแนวคิด แบบแผนการลงทุน และลักษณะการลงทุนที่แตกต่างกัน ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความรู้ ประสบการณ์
และความเคยชินของผู้ลงทุนแต่ละคนด้วย โดยผู้ลงทุนในแต่ละภูมิภาคก็จะมีแบบแผน ลักษณะการลงทุนและข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นแตกต่างกัน
ได้มีการสัมภาษณ์นักวางแผนการเงินเพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆเหล่านี้ไว้เพื่อนำมาเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้ลงทุน ดิฉันเห็นว่ามีประโยชน์จึงได้รวบรวมและเพิ่มเติมจากประสบการณ์ของตนเองเพื่อนำมาแบ่งปันให้กับท่านผู้อ่านในสัปดาห์นี้
แบบแผนและลักษณะการลงทุนของผู้ลงทุนแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ความรู้ ความเคยชิน และประสบการณ์ ในวันนี้จะขอมุ่งไปยังพฤติกรรมของผู้ลงทุนที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด คือผู้ลงทุนชาวเอเชีย ซึ่งรวมถึงไทยด้วย
เริ่มจากการตั้งเป้าหมายในการลงทุนก่อนค่ะ ข้อผิดพลาดประการแรกคือ ผู้ลงทุนชาวเอเชียมักจะไม่ได้ตั้งเป้าหมายในการลงทุนที่ชัดเจน ส่วนใหญ่ก็จะตั้งเป้าหมายเพียงว่า “ลงทุนให้ได้กำไรสูงๆ” ในความเป็นจริง เป้าหมายในการลงทุนมีทั้งในเรื่องของระยะเวลาการลงทุน ว่าจะลงทุนสั้นหรือยาวเพียงใด ความเสี่ยงที่รับได้ และเป้าหมายผลตอบแทนที่คาดหวัง
ผู้ลงทุนคนหนึ่งก็สามารถแบ่งเงินลงทุนได้หลายส่วน และตั้งเป้าหมายได้ต่างกัน ถ้าจะถามว่าควรจะมีกี่ส่วน ก็อาจจะตอบได้ว่า คนทั่วๆไปก็น่าจะแบ่งเงินลงทุนเป็นประมาณ 3 ส่วน ระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว เพื่อให้สามารถตั้งเป้าหมายการลงทุนได้เหมาะสมกับเงินลงทุนแต่ละส่วนค่ะ
เมื่อตั้งเป้าหมายแล้ว เราต้องยึดเป้าหมายเป็นหลัก ไม่ว่าตลาดจะผันผวนไปอย่างไร การปรับเปลี่ยนสามารถทำได้แต่ต้องกลับมาสู่เป้าหมายเดิมให้เร็วที่สุด โดยพบว่าผู้ลงทุนชาวเอเชียมักจะลืมเป้าหมายเดิมในช่วงที่ตลาดอยู่ในขาลง นั่นหมายความว่า พอตลาดอยู่ในขาลงก็จะขายและรับผลขาดทุนไป ทั้งๆที่เงินส่วนนั้นอาจจะตั้งเป้าหมายที่จะลงทุนระยะยาว (ซึ่งสามารถรับความผันผวนได้สูง) เป็นที่น่าเสียดาย เพราะหลายครั้งพบว่า หากลงทุนต่อจากนั้นอีก 1-2 ปี ก็จะสามารถทำกำไรได้แล้ว
ข้อผิดพลาดประการที่สองคือ ถือเงินสดในสัดส่วนที่สูงเกินกว่าที่จำเป็น ข้อนี้เป็นปัญหาของคนเอเชียที่ชัดเจน อาจจะเป็นเพราะแต่เดิมเราไม่มีเครื่องมือในการลงทุนที่มีสภาพคล่องใกล้เคียงกับเงินสดหรือเงินฝาก ข้อนี้แก้ไขได้ง่ายด้วยการลองศึกษาและลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Funds) เพราะเพียงวางแผนใช้เงินล่วงหน้า 1 วัน ท่านก็จะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น
ในความเป็นจริงแล้ว การมีสภาพคล่องจะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจลงทุนได้ หากมีโอกาสลงทุนดีๆผ่านเข้ามา จึงควรมีสภาพคล่องไว้บ้าง มิฉะนั้นจะเสียโอกาส แต่สภาพคล่องมีหลายรูปแบบ ทั้งเงินสด เงินฝาก และกองทุนรวมตลาดเงิน ในทางทฤษฎี การลงทุนในอะไรก็ตามที่ท่านสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี ถือเป็นการจัดสภาพคล่องทั้งหมด แต่ในทางปฏิบัติ ท่านอาจจะจัดที่ต้องการให้คล่องจริงๆภายใน 1 เดือน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นค่ะ
ข้อผิดพลาดประการที่สาม มีสองลักษณะ คือ ไม่ค่อยกระจายการลงทุน หรือ กระจายการลงทุนมากเกินไป การกระจายการลงทุนนั้น ควรจะกระจายตามประเภทของสินทรัพย์หลักๆ 5 กลุ่มคือ 1. กลุ่มเงินสด (รวมเงินฝากระยะสั้นและกองทุนรวมตลาดเงินที่กล่าวไปข้างต้น) 2. กลุ่มตราสารหนี้(รวมพันธบัตร) 3. ตราสารทุน (หุ้นทุน กองทุนรวมหุ้นทุน กองทุนดัชนี) 4. อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 5. การลงทุนทางเลือกและอื่นๆ รวมถึงโภคภัณฑ์ ทองคำ ตราสารอนุพันธ์ ฯลฯ ห้ากลุ่มใหญ่ๆเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว แต่สำหรับผู้มีความมั่งคั่งสูง รับความเสี่ยงได้มาก อาจจะแตกกลุ่มย่อยออกมาได้ เช่น หุ้นต่างประเทศ ในประเทศ และแตกทองคำ หรือโภคภัณฑ์อื่นออกมา
ที่เรียกว่ากระจายการลงทุนมากเกินไป ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศอื่น ในเอเชีย เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ เพราะมีทางเลือกมากเกินไป เช่น ลงทุนในหุ้นก็มีกลุ่ม หุ้นขนาดใหญ่ หุ้นขนาดเล็ก หุ้นเติบโตสูง หุ้นปันผลสูง หุ้นในอเมริกา หุ้นในเอเชีย หุ้นตลาดเกิดใหม่ หุ้นในยุโรป หุ้นในละตินอเมริกา หุ้นเทคโนโลยี ฯลฯ รับประกันว่าถ้าลงทุนเองและกระจายขนาดนี้ ไม่มีทางที่จะดูแลด้วยตนเองได้ทั้งหมด หากจะกระจายมากแบบนี้ควรใช้บริการของกองทุนรวมค่ะ ซื้อกองหนึ่งก็กระจายได้ทั้งภูมิภาค หรืออาจจะกระจายได้ทั่วโลก
ประการที่สี่ ขายทำกำไรเร็วเกินไปและถือที่ขาดทุนไว้นานเกินไป ข้อนี้ผู้ลงทุนบุคคลเป็นกันเยอะมาก ดิฉันเองก็ยังเป็นในบางครั้งเลยค่ะ ได้กำไรก็อยากขาย ขาดทุนก็ยังไม่อยากขาย แต่ถ้าเป็นผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ ต่อให้ขาดทุนก็ต้องขายถ้ามองไปแล้วอนาคตไม่สดใส
อยากเสนอแนะวิธีคิดเพื่อให้สามารถตัดใจขายได้ คือให้คิดว่า มีเงินให้ลงทุนจำกัด หากลงทุนสินทรัพย์นี้แล้วจะดีน้อยกว่าสินทรัพย์อื่นก็ควรจะขายออกไปและนำเงินไปลงในสินทรัพย์อื่นแทน
สำหรับผู้ที่มักจะขายทำกำไรเร็วเกินไป ก่อนขายให้ตรวจสอบดูก่อนว่า ปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนไปจากที่เราเคยคิดหรือไม่ ยกตัวอย่างว่าเดิมซื้อหุ้นไว้ที่ราคา 11 บาท ตั้งใจว่าจะขายที่ราคา 17 บาท เพราะตามมูลค่าพื้นฐานที่คำนวณไว้ ราคาน่าจะเต็มมูลค่า (fully valued) ที่ 17 บาท พอราคาถึง 17 บาทจริงๆ ก็ควรจะทบทวนราคาพื้นฐานอีกครั้งหนึ่ง อาจจะพบว่าราคาพื้นฐานน่าจะขยับไปที่ 23 บาทแล้ว ก็ถือต่อ ทำอย่างนี้เรื่อยๆไปก็จะไม่เสียดายที่ขายเร็วไปหน่อย
อีกวิธีหนึ่งที่ผู้ลงทุนหลายคนใช้ คือ ทยอยแบ่งขาย ราคาถึง 17 บาทก็ขายไปส่วนหนึ่ง 18 บาทก็ขาย ขายไปเรื่อยไปจนหมด วิธีนี้เหมาะสมกับหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลง แต่อาจจะปรับตัวขึ้นเพราะปัจจัยอื่น เช่น เงินไหลเข้าตลาดมาก ราคาปรับขึ้นไปสูงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน
ข้อผิดพลาดประการที่สองคือ ถือเงินสดในสัดส่วนที่สูงเกินกว่าที่จำเป็น ข้อนี้เป็นปัญหาของคนเอเชียที่ชัดเจน อาจจะเป็นเพราะแต่เดิมเราไม่มีเครื่องมือในการลงทุนที่มีสภาพคล่องใกล้เคียงกับเงินสดหรือเงินฝาก ข้อนี้แก้ไขได้ง่ายด้วยการลองศึกษาและลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Funds) เพราะเพียงวางแผนใช้เงินล่วงหน้า 1 วัน ท่านก็จะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น
ในความเป็นจริงแล้ว การมีสภาพคล่องจะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจลงทุนได้ หากมีโอกาสลงทุนดีๆผ่านเข้ามา จึงควรมีสภาพคล่องไว้บ้าง มิฉะนั้นจะเสียโอกาส แต่สภาพคล่องมีหลายรูปแบบ ทั้งเงินสด เงินฝาก และกองทุนรวมตลาดเงิน ในทางทฤษฎี การลงทุนในอะไรก็ตามที่ท่านสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี ถือเป็นการจัดสภาพคล่องทั้งหมด แต่ในทางปฏิบัติ ท่านอาจจะจัดที่ต้องการให้คล่องจริงๆภายใน 1 เดือน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นค่ะ