สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่าน ตลาดหลักทรัพย์ในบ้านเรามีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น กล่าวคือ ดัชนีอยู่ที่ 450 จุด ณ.สิ้นปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 1,025 จุด ณ.สิ้นปี 2554 มีมูลค่าตลาดโดยรวม เพิ่มขึ้นจาก 3,568,223 ล้านบาท เป็น 8,407,696 ล้านบาทในช่วงระยะเวลาเดียวกัน นั่นหมายความว่า ผู้ถือหุ้นทุกคนรวมกัน มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเกือบห้าแสนล้านบาท สำหรับปี 2555 ตลาดหลักทรัพย์ก็ยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง เป็นผลให้ดัชนีเพิ่มสูงสุดในรอบ 16 ปีทีเดียว ส่งผลให้มูลค่าตลาดโดยรวมเข้าใกล้ ล้านล้านบาทเข้าไปทุกที
อาจจะมีคำถามว่า ทำไมจึงต้องลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างยาวนานและเป็นมหาเศรษฐีอันดับสามของโลกในปัจจุบัน ได้กล่าวถึง การลงทุนสามชนิดไว้อย่างน่าสนใจว่า ชนิดแรก คือ การลงทุนในรูปของเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงิน พันธบัตร หรือตราสารอื่นในรูปของสกุลเงิน การลงทุนดังกล่าวหากดูผิวเผินจะเป็นการลงทุนที่มีความปลอดภัยสูงและมีสภาพคล่องดี ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนที่แน่นอนและตรงเวลา แต่ในความเป็นจริงแล้ว การลงทุนประเภทนี้ก็มีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน ความเสี่ยงที่ว่าคือการลดทอนอำนาจของค่าเงิน และความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ แม้หน่วยงานรัฐจะพยายามบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว แต่เราก็เห็นได้ว่ามีหลายครั้งที่หลายๆ ประเทศไม่สามารถจัดการได้
การลงทุนชนิดต่อมาคือ การลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่เกิดผลิตผล ผลตอบแทนในการลงทุนประเภทนี้เกิดจากความคาดหวังของนักลงทุนผู้อื่น พูดง่ายๆ ก็คือ หากมีปริมาณผู้ซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการก็มากขึ้นและผลตอบแทนก็จะสูงขึ้นด้วย ตัวอย่างที่เห็นชัดในกรณีนี้คือ การลงทุนในทองคำ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ราคาทองคำได้ปรับตัวสูงขึ้นมากเนื่องจากปริมาณผู้ซื้อและความต้องการมากขึ้น จริงอยู่แม้ทองคำอาจจะใช้ในการผลิตในบางอุตสาหกรรม แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการซื้อขาย เราจะเห็นว่า การที่เราซื้อหรือลงทุนทองคำหนึ่งบาท เมื่อเวลาผ่านไปสิบปี แม้ราคาทองคำจะเพิ่มสูงขึ้น แต่เราก็ยังมีทองคำหนึ่งบาทเช่นเดิมโดยไม่ได้มีการเพิ่มมูลค่าในด้านอื่นเลย
การลงทุนชนิดสุดท้ายและเป็นการลงทุนที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ชื่นชอบที่สุด ก็คือการลงทุนในสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดผลิตผล นั่นคือการลงทุนในกิจการ ธุรกิจต่างๆ สินทรัพย์ดังกล่าวต้องมีความสามารถในการเอาชนะเงินเฟ้อ และมีผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง และสามารถที่จะคงไว้หรือเพิ่มอำนาจในการซื้อหรือการต่อรองในมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป โดยต้องการใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมน้อยหรือไม่ต้องการเลย การลงทุนในสินทรัพย์ที่ว่านี้ คือ การลงทุนในหุ้นหรือกิจการ เช่น บริษัทโคลา โคล่าหรือโค๊ก และเมื่อเร็วๆ นี้ได้แก่หุ้น ไอบีเอ็ม นั่นเอง
การเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าตลาดโดยรวมในช่วงที่ผ่านมา ย่อมทำให้นักลงทุนเกือบทุกคนมีความสุขกันถ้วนหน้า เรียกว่าจะหานักลงทุนที่ขาดทุนไม่มากนัก นอกจากนี้ ในสภาวะปัจจุบัน กลับมีผู้สนใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มมากขึ้นโดยคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีดังเช่นในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นได้จากคนรอบข้างที่มีการพูดคุยเรื่องนี้มากขึ้น หรือแม้กระทั่งคนที่เคยบาดเจ็บและตั้งใจจะหันหลังให้ตลาดหุ้นมาก่อน คำพูดที่ว่า เมื่อยามพายุพัดแรง ไก่งวงก็ยัง “บินได้” จึงเหมาะสมกับสถานการณ์ในเวลานี้เป็นอย่างดี เมื่อเราย้อนกลับไปดูสถิติของตลาดหลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา เราจะพบว่ามีความผันผวนอย่างมากเช่นกัน
ดังนั้น “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษา ข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” จึงเป็นคำพูดที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไป การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้นประกอบด้วยนักลงทุนหลายประเภท เช่น กองทุน นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนต่างประเทศ นักลงทุนรายย่อย นักเก็งกำไร นักลงทุนด้านเทคนิค นักลงทุนเน้นคุณค่า ทั้งนี้ หลักการลงทุนแต่ละประเภทต่างมีข้อดี ข้อเสีย ที่แตกต่างกัน สำหรับผู้ที่เริ่มสนใจลงทุนคงต้องดูรายละเอียด หลักการ แนวทาง ตลอดจนวิธีการ ว่าเหมาะสมกับตนและแนวทางการใช้ชีวิตของตนหรือไม่อย่างไร
คิด หมายถึง ทําให้ปรากฏเป็นรูปหรือประกอบให้เป็นรูปหรือเป็นเรื่องขึ้นในใจ; ใคร่ครวญ, ไตร่ตรอง, เช่น เรื่องนี้ยากยังคิดไม่ออก; คาดคะเน เช่น คิดว่าเย็นนี้ฝนอาจจะตก; วิเคราะห์ หมายถึง ใคร่ครวญ เช่น วิเคราะห์เหตุการณ์; แยกออกเป็นส่วน ๆ เพื่อศึกษาให้ถ่องแท้ เช่น วิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ วิเคราะห์ข่าว; แยกแยะ หมายถึง กระจายออกให้เห็นชัดเจน เช่น แยกแยะปัญหาให้เห็นเป็นประเด็น ๆ ไป
นั่นคือความหมายจากพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ในฐานะนักลงทุนเน้นคุณค่า คิด วิเคราะห์ แยกแยะ น่าจะเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่นักลงทุนที่ต้องการประสบความสำเร็จต้องมี ผมจะขอใช้พื้นที่นี้ในการนำเสนอแนวคิด มุมมอง ข้อคิดเห็น จากประสบการณ์ทำงานและการลงทุนที่ผ่านมา หวังว่าบทความที่นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านต่อยอดในการ คิดมากขึ้น วิเคราะห์มากขึ้น แยกแยะมากขึ้น เพื่อประโยชน์และความสำเร็จในการลงทุนต่อไป พบกันสัปดาห์หน้าครับ