Weerapong_thum

วิธีเลือกหุ้น / วีระพงษ์ ธัม

ตอนที่ 1

วิธีเลือกหุ้น หรือ Stock Selection เป็นปัจจัยแรกสุดที่นำมาซึ่งความสำเร็จของนักลงทุน VI การเลือกหุ้นที่ไม่ดี อาจจะทำกำไรได้เป็นบางครั้งในช่วงที่ตลาดหุ้นสดใส แต่จะต้องมีซักวันที่จะต้องเจอมรสุม เปรียบเหมือนกับการเลือกเรือ บางครั้งเรือผุ ๆ มันก็สามารถพาคุณออกจากท่าได้เร็ว แต่มันอาจจะพาคุณไม่ถึงฝั่ง สำหรับนักลงทุนมือใหม่ นี่อาจจะเป็นความสับสนที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะหุ้นในตลาดมีจำนวนมาก มีข่าวถาโถมเข้ามา มีหุ้นผ่านมาให้เห็นมากมาย แต่ตัวไหนล่ะ คือหุ้นที่เราควรจะเลือก

stock_selection

สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อนคือ การเลือกหุ้นสำหรับ VI ไม่จำเป็นต้องถูกต้องทุกครั้ง เพราะนี่คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดในการวิเคราะห์ซึ่งหลายอย่างเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ แต่สำหรับนักลงทุน VI ที่ดี ควรจะมีอัตราความสำเร็จในการเลือกหุ้นที่สูง อย่างน้อยหุ้นที่เลือกต้อง “ไม่ขาดทุน” ในระยะยาว แปลว่าหุ้นที่เลือกในอีกหลาย ๆ ปีข้างหน้าต้องมีผลประกอบการดีขึ้น และการเลือกหุ้นที่ถูกต้อง ไม่ควรตัดสินด้วย “ราคาหุ้น” ในระยะเวลาสั้น ๆ อย่างน้อยกว่าที่ราคาหุ้นจะบอกว่าคุณคิดถูกหรือผิด ควรจะเป็นระยะเวลา 1-2 ปีขึ้นไป

วิธีแรกในการเลือกหุ้น คือ การใช้ “ตะแกรงร่อน” เป็นการเลือกหุ้นโดยใช้ข้อมูลในเชิงปริมาณ ซึ่งปัจจุบันก็มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกมากมาย เราอาจจะตั้งเงื่อนไขสำคัญบางอย่าง เช่น ROE จะต้องมากกว่า 15% หุ้นมี P/E หรือ P/B ต่ำ หากิจการที่มีรายได้เติบโต มีอัตรากำไรหรือ Net Profit Margin ดีขึ้น วิธีการนี้เป็นวิธีที่ผมชอบในช่วงแรก ๆ ในการลงทุน เพราะส่วนหนึ่งคือ เราพยายาม หา ”สูตร” บางอย่างที่ใช้หาหุ้นขึ้นมา นี่เป็นความเชื่อผิด ๆ ที่นักลงทุนมักติดกับดักคือ การลงทุนจริง ๆ แล้ว “ไม่มีสูตรลับ”

จุดอ่อนสำคัญที่สุดของวิธีนี้คือ เราใช้ข้อมูลในอดีตทั้งหมด แม้ว่าแนวโน้มในอดีตจะเป็นสิ่งชี้นำอนาคตได้ แต่หลายครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นอีก และการ Back Test หรือการทดสอบผลตอบแทนย้อนหลัง ส่วนมากมักจะได้ผลดี เนื่องจากเรามีอคติในการพยายาม “เลือก” วิธีที่ดีที่สุด โดยอ้างอิงจากข้อมูลในอดีต อีกอย่างหนึ่งคือ ข้อมูลหลายอย่างมีข้อจำกัดว่า เป็น “เหตุการณ์ปกติ” หรือเป็น “เหตุการณ์พิเศษ” หุ้นที่มี ROE สูง ๆ ในอดีตหลายตัว เช่นหุ้นโรงงานผ้า หุ้น Specialty Stores มาถึงปัจจุบันกลับเป็นหุ้นที่ผลประกอบการ “แย่มาก” สาเหตุที่ตัวเลข ROE ดีในเวลานั้นเป็นเพราะการลงทุนต่ำ ค่าเสื่อมตัดทิ้งหมดแล้ว จ่ายปันผลสูงตลอดเวลา รัดเข็มขัด แต่บริษัทขาดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

ในทางกลับกัน บางครั้งหุ้นที่เคย ROE ต่ำมาก หรือ PE สูงมาก กลับเป็นหุ้นที่สร้างผลตอบแทนระยะยาวที่ดีอย่างต่อเนื่อง และตัวเลข ROE ก็ค่อย ๆ สูงขึ้น อย่างไรก็ดี วิธีนี้ก็ไม่เสียหายสำหรับการหยิบหุ้นมาวิเคราะห์โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ ในการลงทุน เพราะนี่คือการศึกษา “ประวัติศาสตร์” ของผู้ชนะในอดีต เพื่อคาดการณ์อนาคต

วิธีที่สอง คือ เลือกหุ้นจากกระแสอุตสาหกรรม ตั้งแต่กระแสที่ “เล่นข่าว” กันเป็นระยะ ๆ อาจจะเรียกว่าเลือกหุ้นจาก Theme เช่น ช่วงนี้ Domestic Play หุ้นในประเทศ หรือ Global Play เล่นหุ้นต่างประเทศ หรือ หุ้นวัฎจักรก็เป็นกระแสที่ “ขายดี” มาตลอด ปัจจุบันก็มีหุ้นกล้องถ่ายรูป หุ้นมือถือ หุ้นลีสซิ่ง หุ้น New Economies ฯลฯ หรือกระแสที่ยาวนานกว่าประเภท Megatrend เช่น หุ้นที่ได้ประโยชน์จากความเป็นเมือง (Urbanization) คนสูงวัน (Aging Economy) หรือ กระแสที่มีอย่างยาวนาน ในหุ้นไทยคือหุ้นค้าปลีกสมัยใหม่

วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยม เนื่องจาก “หุ้นในกระแส” มักจะร้อนแรงและมีความให้ความสนใจจำนวนมาก หุ้นเหล่านี้จึงได้รับ Premium ราคาแพง จุดสำคัญของวิธีนี้คือ เราต้องเลือกก่อนหน้าที่กระแสนี้จะมา หรือมีคนสนใจจำนวนมาก เราอาจจะไปหากระแสนี้ในต่างประเทศก่อน หรือหากระแสกับข้อมูลที่แอบไม่ให้นักลงทุนเห็น นี่เป็นกิจกรรม “แมวมอง” ซึ่งความรู้เหล่านี้มักจะได้จากข้อมูลที่หาได้ยาก หรือคนมองข้าม เพราะถ้ามันอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์แปลว่าคุณไม่ทันแล้ว

อีกจุดที่สำคัญคือ เราจำเป็นต้องเลือกหรือต้องหา “ผู้ชนะ” ในกระแสให้ได้ มันจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้ากระแสนั้น ๆ ไม่มีผู้ชนะอย่างเด็ดขาด ยุค 1980s เกิดกระแสยุค Electronics แต่ผู้ชนะในเกมนี้น้อยมาก 1990s เราเกิดยุค Internet Dot Com ซึ่งผู้เต็มไปด้วยผู้แพ้ และล้มละลายในที่สุด นอกจากนั้น ขึ้นชื่อว่ากระแสแล้ว มักมาพร้อม ๆ กับ “ฟองสบู่” อย่างไรก็ดี กระแสมาเมื่อไหร่ พายุก็ทำให้แม้แต่เป็ดก็บินได้ ท่ามกลางความร้อนแรง เราต้องพยายามแยกแยะ “เป็ด” กับ “อินทรีย์” ออกจากกันให้ได้

ตอนที่ 2

จากบทความที่แล้ว นอกจากวิธีเลือกหุ้นโดยใช้ตะแกรงร่อน หรือเลือกหุ้นจากกระแสอุตสาหกรรมที่โดดเด่นแล้ว วิธีเลือกหุ้นต่อมา คือ การเลือกจาก “ผู้บริหาร” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาซึ่งความสำเร็จหรือล้มเหลวของบริษัท

การเลือกหุ้นจากผู้บริหาร เราจำเป็นต้องเข้าใจลักษณะนิสัย วิธีคิด วิสัยทัศน์ของพวกเขาให้ลึกซึ้ง ซึ่งในโลกยุคนี้ข้อมูลค่อนข้างหาได้ง่าย จากการค้นคว้าบนอินเตอร์เน็ต เราสามารถหาอ่านบทสัมภาษณ์ หรือดูจากรายการทีวี ความโดดเด่นจะค่อย ๆ ฉายแววจาก “ร่องรอยแห่งความสำเร็จ” ที่มีให้เห็น ตั้งแต่ความสำเร็จเล็ก ๆ ขึ้นมาตามลำดับ และต้องไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ประวัติด่างพร้อย” เช่นการทุจริต ความไม่ตรงไปตรงมา หรือการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย ซึ่งนำปัญหาที่ใหญ่มากในภายหลังคือปัญหาธรรมาภิบาล

นอกจากนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจแรงจูงใจของผู้บริหารด้วยว่า พวกเขามีความตั้งใจที่จะทำให้กิจการเติบโตหรือไม่ หรือผู้บริหารมีสิ่งอื่นที่เขาสนใจมากกว่า ผู้บริหารควรจะมีความคิดในลักษณะของ “ไดเมียว” ในหนังญี่ปุ่นโบราณ ที่ความพ่ายแพ้นำมาซึ่งชีวิต ความสำเร็จจะสูงขึ้นมากหาก ผู้บริหารทุ่มสุดตัว หรือ “All in” ในธุรกิจ ถ้าเขาไม่ใคร่สนใจในผลลัพท์ หรือล้มบนฟูกได้นี่อาจจะเป็นความเสี่ยงหนึ่ง ดังนั้นผลตอบแทนผู้บริหารควรจะ สัมพันธ์กับนักลงทุนในระยะยาว และถ้าดีกว่านั้น ทีมบริหารควรจะมีส่วนเกื้อหนุน ไม่ใช่การดำเนินธุรกิจแบบวันแมนโชว์

วิธีนี้มีจุดอ่อนอยู่ตรงที่ว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่มักมีทักษะการสื่อสารที่ยอดเยี่ยม การแยกแยะฝีมือบริหารกับฝีมือการพูดจึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย และผู้บริหารอาจจะถูกซื้อตัว หรือเปลี่ยนได้ตลอดเวลา รวมไปถึงการ “เข้ากันได้” กับวัฒนธรรมองค์กร นอกจากนั้นพวกเขาควรจะมีทักษะและความรู้เฉพาะในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เพราะนี่คือหัวใจของความสำเร็จ อันที่จริงผู้บริหารไม่ใช่ความสามารถในการแข่งขัน แต่ “การตัดสินใจ” ของผู้บริหารต่างหากที่ใช่ สุดท้าย ต้องระลึกเสมอว่าธุรกิจที่แย่ ผู้บริหารจะเก่งขนาดไหนก็ไปไม่รอด

วิธีต่อมาคือ การเลือกหุ้นจาก Business Model เพราะกลยุทธ์ธุรกิจมักเปลี่ยนไปได้บ่อย ๆ แต่โมเดลธุรกิจมักจะคงทนกว่า รูปแบบธุรกิจที่ดีจะสามารถ “ขยายตัว” ได้ไม่จำกัดโดยที่สามารถจำกัดความเสี่ยงได้ ตัวอย่างเช่นธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ มีรูปแบบธุรกิจที่แข็งแรง มีการจัดวางร้าน มีระบบขนส่ง การควบคุมสินค้าที่ดี รูปแบบร้านที่คนในเมืองหนึ่งชอบ ย่อยทำให้คนอีกเมืองหนึ่งชอบ นี่คือความสำเร็จสามารถ “โคลนนิ่ง” ได้

จุดสำคัญคือ Business Model ที่ดี ควรจะลอกเลียนแบบยาก ถ้าใคร ๆ ก็ทำได้ ในไม่ช้าก็จะมีคนแห่เข้ามาทำจนทำให้กำไรหายไปทั้งหมด และต้องสามารถ “ทำเงิน” ได้ เพราะหลายครั้งมันอาจจะทำเงินไม่ได้ เมื่อมีสภาพสังคม สิ่งแวดล้อมแตกต่างไป เพราะลูกค้าให้ “คุณค่า” สินค้าและบริการไม่เหมือนกัน สิ่งสุดท้ายคือ Business Model ควรจะได้รับการพิสูจน์ระดับหนึ่ง เพราะอะไรก็ตามที่เขียนอยู่บนกระดาษมักจะสวยงามกว่าโลกความเป็นจริงเสมอ

วิธีการสุดท้ายคือเลือกหุ้นจาก “ความสามารถของนักลงทุน” วิธีนี้ผมคิดว่าดีที่สุดในทุกวิธี เพราะนี่คือการเลือกหุ้น จาก “ความได้เปรียบ” ของตัวเราเองคือความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในธุรกิจนั้น ๆ ปีเตอร์ ลินซ์ เลือกหุ้นจากสินค้าและบริการที่ภรรยาและลูก ๆ ของเขาชอบ ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่างหากที่ช่วยให้เรามองเห็นอะไรก่อนคนอื่น ไอเดียในการลงทุนดี ๆ มักจะไม่ได้มาจากนักลงทุน แต่มาจากผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจนั้น ๆ

ตัวอย่างที่คล้ายคลึงกันกับชีวิตนักลงทุนคือ ชีวิตเกษตรกร สิ่งที่เกษตรกรควรจะทำคือ ความเข้าใจดินฟ้าอากาศของที่ดินนั้น ๆ และ ต้องเข้าใจว่าเรามีทักษะในการปลูกพืชอะไรมากที่สุด หากพวกเขาดูแต่ว่าช่วงนี้ราคามะพร้าวดี ราคาข้าวดี ราคายางดี ราคามันดี ก็จะมีแต่การ “ตามแห่” เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และสุดท้ายผลลัพท์มักจะแย่ เกษตรกรที่เชี่ยวชาญในบางสิ่งบางอย่าง มักจะได้ผลดีกว่า

เช่นเดียวกับนักลงทุน เราควรจะเข้าใจว่าเรามีทักษะเข้าใจกิจการอะไรมากที่สุด เงินทุนของเรา ความเสี่ยงของตัวเองที่รับได้ Lifestyle และเราก็ “เลือก” หุ้นที่เหมาะกับตัวเราที่สุด เพราะหุ้นที่เราเลือกถูกตัวนั้น อาจจะสำคัญแค่ระดับหนึ่ง สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เราสามารถเข้าใจและรอให้หุ้นที่เราเลือก ออกดอกออกผลได้หรือไม่มากกว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เราควรจะทำอย่างไร เลือกหุ้นถูกเรา “กำไร” ตั้งแต่วันที่ซื้อ แต่เราอาจจะ “ขาดทุน” ในวันที่ขาย ดังนั้นแน่นอนว่าหุ้นตัวหนึ่งไม่ได้เหมาะกับนักลงทุนทุก ๆ คน